วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดของพ่อ วิถีแห่งความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยประโยชน์นานัปการ

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดของพ่อ วิถีแห่งความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยประโยชน์นานัปการ

2010201701

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมี พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล) เป็นเจ้าอาวาส

ก่อนจะมาเป็นวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

สืบเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนบึงพระราม ๙ ก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อันก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน กอรปกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งปลายทางรับน้ำเสียจากทุกหนแห่ง ได้เริ่มเสื่อมโทรมลงทุกขณะ หากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาอย่างไม่หยุดยั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริให้ทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยวิธีเติมอากาศ ณ บริเวณบึงพระราม ๙ ในลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก และทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวบางส่วนให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยใช้วิธีเติมอากาศลงไปในน้ำ และปล่อยให้น้ำตกตะกอนแล้วปรับสภาพก่อนระบายออกสู่ลำคลองตามเดิม รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำซึ่งเป็นการนำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชะล้างทำความสะอาดคลอง และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยอาศัยจังหวะน้ำขึ้น – น้ำลง ตามธรรมชาติ อันเป็นการบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

กังหันน้ำชัยพัฒนาภายในวัด

ศูนย์รวมแห่งจิตใจ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เมื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามโครงการบึงพระราม ๙ ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้มีการดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่ และชุมชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการบึงพระราม ๙ ดังกล่าว พร้อมให้มีการจัดตั้งวัดขึ้นในที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8 – 2 – 54 ไร่ และได้รับการอนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานก่อสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกขึ้น โดยมีนายจริย์ ตุลยานนท์ กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการก่อสร้างวัด ทำหน้าที่ในรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างวัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในลักษณะวัดขนาดเล็กที่มีลักษณะเรียบง่าย ประหยัด และทันสมัย เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ และศรัทธา เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ ทั้งทางศาสนา สังคม และจริยธรรม แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาจิตใจของชุมชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมโดยส่วนรวมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ดังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคม ครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“…จุดมุ่งหมายโดยตรงแท้ของศาสนาทั้งปวง และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนามุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการ และแนวความคิดในศาสนธรรม และน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต คือให้เกิดความผาสุก ความร่มเย็น และความเจริญในแต่ละบุคคลในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเป็นปรมัตถประโยชน์ ดังนั้นการบำรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงควรจะได้กระทำให้ถูกเป้าหมาย…”

โปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย และประหยัด

เบื้องต้น คณะอนุกรรมการฝ่ายออกแบบ ได้ออกแบบอาคารศาสนสถานในวัดแห่งนี้ และประมาณราคาการก่อสร้างอยู่ในวงเงินประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ เมื่อนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถ และอาคารอื่นๆ ให้มีขนาดเล็กลงจากเดิม มีพระราชประสงค์ให้วัดเล็กๆ โบสถ์เล็กๆ มีกุฏิเล็กๆ ไม่โปรดให้สร้างวัดขนาดใหญ่ และให้ใช้งบประมาณไม่ควรเกิน ๑๐ ล้านบาท นอกจากนี้ สภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นวัดใหญ่ ทรงเน้นว่าให้มีวัดเพื่อให้มีพระไว้สั่งสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดใหญ่โต เน้นให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ อีกทั้งให้ยึดหลักแห่งความประหยัด เรียบง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ออกแบบที่ง่ายๆ ไม่หรูหรา ซึ่งประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ จำนวน ๕ หลัง หอระฆัง โรงครัว อาคารสะอาด สวยงาม และบริเวณพื้นที่โดยรอบให้ปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ป่าและพันธุ์ไม้หายากในลักษณะป่าผสมผสาน เพื่อให้เกิดร่มเงาและความร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา

อาณาเขตที่ตั้งวัด

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ เลขที่ ๙๙๙ ถนนพระราม ๙ ซอย ๑๙ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นที่ลุ่มว่างเปล่า ขอบเขตที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ทั้งหมด ๘ – ๒ – ๕๔ ไร่ด้านทิศเหนือ ยาว ๒๓๔ เมตร ติดกับโรงเรียนสมาคมไทย – ญี่ปุ่น และที่ว่างเปล่าของเอกชน ด้านทิศตะวันออก ยาว ๖๑.๕ เมตร ติดคลองลาดพร้าว ด้านทิศใต้ ยาว ๒๑๗ เมตร ติดกับที่ดินที่กันไว้เป็นถนนทางเข้า ด้านทิศตะวันตก ยาว ๖๕ เมตร ติดกับโรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ของกรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์ : http://watphraram9.org/
Facebook : วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

 


ข่าวที่น่าสนใจ

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา