โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จุดกำเนิดของโครงการต่างๆ มากมาย
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระตำหนักในพระราชวังดุสิต หรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกกันว่า สวนจิตรลดา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก รวมถึงสร้างศาลาดุสิดาลัยเป็นศาลาอเนกประสงค์ และภายหลังจากเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ จึงทำให้เกิดโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาขึ้น
โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ภายในสวนจิตรลดาเป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน จุดเริ่มต้นของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย ด้วยการสร้างฐานความรู้ด้วยการวิเคราะห์ และทดลองแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หัวใจของโครงการคือมุ่งหวังให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ ใช้ได้จริง เช่น การปลูกข้าวต้องมี องค์ความรู้ พระองค์ท่านทรงรวบรวมองค์ความรู้ผสมผสานเทคโนโลยีอย่างง่าย และเครื่องจักรกลสมัยใหม่เข้ากับวัฒนธรรม และภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นต้น
โครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่สนองแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนพระราชหฤทัยในการเกษตร ทรงปลูกต้นไม้หลายชนิดบนพระระเบียงชั้นบนพระตำหนักที่ประทับ และทรงทดลองการใช้ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทุกชนิดด้วยพระองค์เองมาตลอด รวมถึงการเพาะพันธุ์ปลา จึงทำให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นหลายโครงการในสวนจิตรลดานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา เช่น
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศ โดยเริ่มจากทรงเลี้ยงในสระว่ายน้ำหน้าพระที่นั่งอุดรในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน แล้วได้พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศให้กับผู้ใหญ่ และกำนันทั่วประเทศนำไปเลี้ยง
- ทรงทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในลักษณะป่าไม้สาธิต
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวมาจัดทำนาข้าวทดลองปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ซึ่งทางราชการได้ขอพระราชทานข้าวเปลือกที่ปลูกได้ส่วนหนึ่งไปใช้เป็นข้าวพิธีในพระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แจกให้กับชาวนา เกษตรกร และให้พระยาแรกนาหว่านข้าวในแปลงนาทดลองหลังจากงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปี
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลี้ยงปลานิลที่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารเจ้าชายอากิฮิโตะ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาไว้ในบ่อปลาในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลที่เพาะพันธุ์จากบ่อแก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ทั่วประเทศ
- จัดทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุ์พืช โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีขนุนไพศาลทักษิณ มณฑายี่หุบ พุดสวน ในพระบรมมหาราชวัง และสมอไทย ในพระที่นั่งอัมพรสถาน นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์พรรณไม้เก่าแก่ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- โครงการสวนพืชสมุนไพร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์ วิธีการขยายพันธุ์ และเป็นพื้นฐานในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพืชสมุนไพร ตลอดจนเผยแพร่คุณประโยชน์ของสมุนไพรแก่ผู้สนใจเข้าชมกิจการ
- โครงการบำบัดน้ำเสีย (ปี พ.ศ. 2528) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองปลูกผักตบชวาเพื่อขจัดน้ำเสียบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในเดือนพฤษภาคม 2537 ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาดสามารถบริโภคได้
- เชื้อเพลิงเขียว (ปี พ.ศ. 2530) เชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นสิ่งซึ่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาสนใจพัฒนาต่อจากเชื้อเพลิงแท่ง ซึ่งผลิตจากแกลบบดเศษวัสดุเหลือใช้ ทั้งชานอ้อย เปลือกส้ม และผักตบชวาจากโครงการกำจัดน้ำเสีย สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเขียวสำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ทั้งสิ้น
- มีศูนย์คอมพิวเตอร์โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (ปี พ.ศ. 2539) ตั้งแต่การผลิต คลังเก็บ สินค้า การจำหน่าย และระบบบัญชีการเงิน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยโดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2.โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรที่มีการบริหารการเงินครบวงจร โดยผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ไม่หวังผลกำไร และดำเนินการโดยมีการบริหารการเงินครบวงจร มีรายได้ รายจ่าย โดยไม่มีโบนัส แต่นำรายได้จากการจำหน่ายมาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาต่อไป โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกได้ดังนี้
- โรงโคนมสวนจิตรลดา (ปี พ.ศ. 2505) ได้มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายโคเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 1 ตัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการ ส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จัดการเลี้ยงโคนมร่วม กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งโคนมส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ ลูกผสมโฮลสโตน์-ฟรีส์เซี่ยน มีการจำหน่ายนมสดที่รีดได้แก่สมาชิกของโรงโคนมสวนจิตรลดา และพระราชทานลูกโคเพศผู้เป็นโคพันธุ์แก่เกษตรกรที่ทำหนังสือขอพระราชทาน
- โรงนมผงสวนดุสิต (ปี พ.ศ. 2512) จากสภาวะนมสดล้นตลาด เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทรงจัดตั้งโรงนมผงขึ้น และพระราชทานชื่อว่า “โรงนมผง สวนดุสิต” โรงนมผง แห่งนี้ถือเป็น “โรงนมผงแห่งแรกในประเทศไทย” ซึ่งมีการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรมาโดยตลอดเพื่อให้คุณภาพนมผงที่ผลิตดีขึ้น สามารถผลิตนมผงได้ 8 ตันต่อวัน
- โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา (ปี พ.ศ. 2514) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจัดตั้งโรงสีข้าวทดลองขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกแบบต่างๆ รวมทั้งยุ้งฉางข้าวแบบสหกรณ์
- โรงกระถางผักตบชวา (ปี พ.ศ. 2532 – 2548) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเกี่ยวกับการนำผักตบชวาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ และเชื้อเพลิงเขียว เช่น ทำกระถางจากผักตบชวา
- โรงอาหารปลา และสาหร่ายเกลียวทอง (ปี พ.ศ. 2529) โรงอาหารปลา และสาหร่ายเกลียวทอง ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำกากมูลหมัก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตแก๊สชีวภาพ เพื่อศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสม และทดลองผลิตอาหารปลาที่มีสาหร่ายเกลียวทองผสมอยู่ด้วย
- งานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง (ปี พ.ศ. 2534) เป็นโครงการผลิตน้ำผึ้งบรรจุหลอดพลาสติก และบรรจุขวดขนาดต่างๆ โดยได้รับซื้อน้ำผึ้งจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
- งานผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง (ปี พ.ศ. 2535) ได้ก่อสร้างโรงงานน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตน้ำผลไม้ต่างๆ ครบวงจร โดยมีการผลิตน้ำผลไม้เข้มข้น น้ำผลไม้บรรจุกระป๋องเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษานำความรู้ในการผลิตน้ำผลไม้แต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ต่อไป
- โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนอีกหลายหน่วยงาน เช่น โรงบดแกลบ งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โครงการดีโซฮอล์ โครงการไบโอดีเซล
จากตัวอย่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เท่าที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นว่าสวนจิตรลดา เป็นยิ่งกว่าที่ประทับของพระมหากษัตริย์ อาจเป็นวังพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกนี้ที่เป็นสถานที่ทดลองโครงการเพื่อผลประโยชน์ของราษฎร ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงน้ำพระราช หฤทัยของพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อราษฎรที่ทรงห่วงใยและทรงทุ่มเทพยายามคิดแก้ไขปัญหาให้ราษฎรตลอดมา