มิสเตอร์เกย์ เวิลด์ ไทยแลนด์ เวทีแห่งความเท่าเทียม เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องคุณภาพของบุคคล

มิสเตอร์เกย์ เวิลด์ ไทยแลนด์ เวทีแห่งความเท่าเทียม เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องคุณภาพของบุคคล

1410201702

ในสังคมโลกปัจจุบัน มิติหนึ่งที่น่าสนใจคือการเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายทางเพศ ว่าเรื่องเพศไม่ใช่เส้นแบ่งของความเป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่คือรสนิยม และพฤติกรรมอันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวลดทอนคุณค่าของใคร ความหลากหลายไม่ใช่สิ่งแบ่งแยกให้เกิดความหวาดกลัวหรือรังเกียจ แต่คือความงดงามของมนุษย์ สำหรับเวทีการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศในปีนี้ องค์กรบางกอกเรนโบว์ได้รับความไว้วางใจจากเวที Mr Gay world ซึ่งเป็นเวทีจัดประกวดที่ต่อเนื่องกันมา 7 ปี และมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมประกวดร่วม 30 ประเทศ โดยได้มาจัดประกวด Mr Gay world Thailand 2016 ในไทยเป็นครั้งแรก

unnamed

2

3

ผู้เข้าประกวดสิบคนสุดท้าย ล้วนเป็นบุคคลคุณภาพที่มาจากการเลือกเฟ้นของกรรมการ มีความหลากหลายทั้งอายุ อาชีพ ที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่การงานที่ดี น่าสนใจตรงที่ปีนี้มีบุคลากรทางการแพทย์เข้ารอบถึง 5 คน เรียกว่าครึ่งต่อครึ่งทีเดียว สำหรับมุมมอง และทัศนคติของผู้เข้าประกวด คือ

4

นายกันต์ระพี ธงชัย หรือภีม อายุ 29 ปี อาชีพแดนเซอร์ กล่าวว่า “ผมอยากเป็นกระบอกเสียงที่บอกใครต่อใครว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ความเป็นมนุษย์ของคุณเหมือนกับคนอื่นๆ ผมอยากรณรงค์ให้คนที่เป็นเกย์ต้องไม่ดูถูกกันเอง ไม่มองลดคุณค่าของตัวเอง เราต้องมีความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และต้องมั่นใจว่า เรามีศักยภาพในการสร้างตัวเอง ทำเพื่อครอบครัว ทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม แล้วสังคมจะเห็นว่าเราเท่าเทียม”

5

นพ.ณัฐพงศ์ ทรัพย์สาร หรือหมอโบท อายุ 32 ปี อาชีพ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวว่า “สิทธิความเท่าเทียมในประเทศไทยที่หวังจะส่งเสริมคือกฎหมายคู่ชีวิต เราไม่ได้หวังเรียกร้องสิทธิเพื่อจะแต่งงาน นั่นเป็นผลทางใจ แต่ที่สำคัญคือการจัดการทางกฎหมาย เช่น การจัดการทรัพย์สมบัติ การทำธุรกรรม หรือกระทั่งอำนาจในการตัดสินใจเมื่อคู่ของเราเจ็บไข้ได้ป่วย อยากให้คนที่อยู่ด้วยกันในฐานะคู่ชีวิตได้สิทธิ์ในการดูแล ไม่ใช่มีเงื่อนไขเรื่องเพศสภาพ”

6

นายธนบัตร ชายด่าน หรือบอย อายุ 30 ปี รองประธานบริหารฝ่ายการตลาด และกลยุทธ์ธุรกิจ บริษัท ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าประกวด กล่าวว่า “ผมอยากสื่อสารในเวทีนี้ว่า ผมอยากให้คนเป็นเกย์ หรือเพศที่เขาเรียกเป็นเพศที่สามต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด การเรียน อาชีพการงาน การใช้ชีวิต เราจะเรียกร้องอะไร เราต้องดีก่อน เพราะต้องยอมรับว่าสังคมยังตีตราเราอยู่ เรายังถูกมองว่าศักยภาพทำอะไรได้ไม่กี่อย่าง งานความงาม งานโชว์ก็ต้องทำให้รู้ว่าเรื่องเพศไม่ใช่ข้อจำกัด และถ้าได้ไปเวทีโลกผมก็จะรณรงค์ว่า ความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่เราเรียกร้อง แต่ต้องลงมือทำสิ่งแรกก่อนคือทำให้เขาเห็นว่าเรามีดี เมื่อสังคมเห็นความสามารถของเราความเท่าเทียมก็เกิด”

7

นายปองพล คงสมาน หรือตั้งใจ อายุ 25 ปี อาจารย์พยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ กล่าวว่า “ผมประกวดเวทีนี้เพราะต้องการให้เสียงผมดังสู่สังคม ผมเชื่อในคุณค่าของความหลากหลายว่ามันคือศักยภาพของคนที่จะทำเพื่อส่วนรวมได้ในหน้าที่แตกต่างกัน เราจะเปลี่ยนสังคมเราต้องเริ่มจากเปลี่ยนคนให้แต่ละคนมองคนอื่นเป็นคนที่เท่าเทียม ไม่เอาด่วนเอาเงื่อนไขใดๆ มาตัดสินกัน ซึ่งจะไม่ให้คนอื่นมองเราก็ต้องพิสูจน์คุณค่าในตัวเราให้เห็นก่อน ถ้าผมได้ไปถึงเวทีโลกก็จะเพิ่มเรื่องที่กลุ่มรักเพศเดียวกันถูกตีตราว่า เพศสัมพันธ์ของเราอันตราย เราต้องเปลี่ยนความหมายว่าความอันตรายคือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องรสนิยมทางเพศ ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกัน”

8

นพ.พัฒนจัก วิภาดากุล อายุ 30 ปี แพทย์เวชปฏิบัติ กล่าวว่า “ในไทย กลุ่มความหลากหลายทางเพศอาจมีสิทธิเสรีภาพระดับหนึ่ง แต่สิทธิทางกฎหมายเรายังมีปัญหาอยู่ เช่น การไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ มันทำให้เราเสียสิทธิ์ต่างๆ ในการดูแลทรัพย์สมบัติ หรือสิทธิในการตัดสินใจทางสุขภาพของคู่ชีวิตเรา เรามี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ แต่สิทธิบางเรื่องก็ยังไม่ครอบคลุม เช่น การเข้าถึงฮอร์โมนของกลุ่มผู้แปลงเพศ ผมอยากสื่อสารว่าเราควรเพิ่มอะไร ถ้าในเวทีระดับโลกสิ่งที่ผมอยากพูด คือ การแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการเหยียดเพศ กลุ่มหลากหลายทางเพศยังเผชิญกับความรุนแรง ต้องสร้างความเข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราอยากใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข”

9

ดร.อิงครัต แพทริค สีเขียวสุขวงกฎ หรือแพทริค อายุ 39 ปี ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ผู้เข้าประกวด กล่าวว่า “ผมตั้งใจในการรณรงค์เรื่องเชื้อเอชไอวี อยากสื่อสารรณรงค์ให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามาตรวจเพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายสู่คนรอบข้าง และให้ความรู้ต่อผู้ติดเชื้อในการปฏิบัติตัว ปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังมีปัญหา และสิ่งที่ผมอยากพูดอีกอย่างคือเรื่องความเท่าเทียมทุกคนมีความดีงามในตัวไม่ว่าเพศไหนก็เป็นผู้นำในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ เพศรสนิยมไม่ใช่เครื่องแบ่งแยกมนุษย์ ผมอยากรณรงค์ไปถึงขั้นว่า อยากให้สังคมเบื้องต้น คือสถาบันครอบครัว โรงเรียน มีความเข้าใจ และสร้างความรู้ที่ถูกต้องให้ตั้งแต่เป็นเด็กเยาวชน จุดเริ่มต้นที่ดีก็นำไปสู่สังคมที่ดี”

10

นายวรพล ทวีวัฒนสมบูรณ์ อายุ 25 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า “ผมอยากให้สังคมรู้ถึงศักดิ์ศรีของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพศสภาพไม่ใช่ตัวแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ อยากให้เรามีสิทธิ์เท่าเทียมทั้งการใช้ชีวิต และด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายอุ้มบุญ กลุ่มหลากหลายทางเพศก็อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีลูกมาเติมเต็มความรัก ถ้ามีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนปัญหาก็จะลดน้อยลง ถ้าได้ไปเวทีระดับโลกผมก็อยากเป็นกระบอกเสียงในการชี้แจงสิ่งที่ต่างชาติตีตราประเทศไทย เช่น เรื่องการค้ามนุษย์ ว่าเรามีการแก้ปัญหา และทำให้เขาเห็นว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศของไทยเป็นคนเก่งไม่ได้น้อยหน้าใคร ให้เขารู้ว่าไทยมีความก้าวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับในความหลากหลาย”

11

นายศักดา บือสันเทียะ หรือแฟ้ม อายุ 25 ปี อาชีพ เภสัชกรรมไทย และที่ปรึกษาสุขภาพ กล่าวว่า “ตนภูมิใจในความเป็นเกย์ การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นไม่ทำให้ตนสูญเสียอะไร แต่บางคนอาจยังมีปัญหากับสังคมรอบข้าง จึงอยากรณรงค์ให้สังคมเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมว่าศักยภาพของคนเรามันไม่ได้วัดหรือแบ่งกันที่ตัวตนที่คนนั้นเป็นสิ่งที่อยากรณรงค์มากคือเรื่องการป้องกันเชื้อเอชไอวีไม่ว่าจะเพศไหน และทำให้สังคมเข้าใจเรื่องเอชไอวี”

12

นายอนุวัฒน์ ศรีเกิน หรือร็อบบี้ อายุ 29 ปี อาชีพ ครู กล่าวว่า “ไม่ได้เครียดในเรื่องที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ ภูมิใจด้วยซ้ำว่าเรากล้าเป็นในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่ต้องการนำเสนอและรณรงค์ คือบอกให้สังคมให้โลกรู้ว่าเกย์มีความรู้ ความสามารถ ความเป็นเกย์ไม่ใช่ภาพความเป็นลบ เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้สังคมได้ตั้งมากมาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างใจกว้าง แต่ขณะนี้ก็ยังมีกลุ่มที่ดูถูกเกย์อยู่บ้าง เราอยากแสดงให้เขารู้ว่า เพศไหนก็มีคุณค่าในตัวเอง”

13

นายอภิรักษ์ อภิจิตรชัยโชติ อายุ 39 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า “ผมอยากทำให้คนไทยรักสามัคคีกัน ประเทศเรามีความหลากหลายแต่ยังมีบางอย่างที่เป็นปัญหา เช่น ทัศนคติการยอมรับและเข้าใจ แต่หากเราร่วมใจกัน ก้าวข้ามข้อจำกัดได้ เราจะมีพลังของความสามัคคีที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ผมอยากให้ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างทำงานได้มาร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ อยากให้คนเปลี่ยนทัศนคติที่เป็นลบต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้กล้าแสดงออกศักยภาพ ส่วนในเวทีโลก ผมอยากให้ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีไม่ใช่มีแค่ภาพลบอย่างที่ถูกมอง อยากบอกเขาว่าแม้ประเทศเราไม่ได้ดีที่สุด แต่เรามีในหลวงที่ดีที่สุดในโลก”

1

การจัดงานจะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ณ Celebrity Club แยกเหม่งจ๋าย ห้วยขวาง บัตรมี 2 ราคา คือ บัตร VIP 500 บัตรทั่วไป 300 บาท สามารถดูรายละเอียดการซื้อบัตรได้ที่ www.mrgaythai.com ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารผู้เข้าแข่งขันได้ที่เว็บไซต์นี้ และโหวตมิสเตอร์ป๊อบปูล่าร์โหวต สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Mr Gay World Thailand รวมถึงทำความรู้จักผู้เข้าประกวด และร่วมให้คะแนนความนิยมผ่านทางแอพพลิเคชั่น Blued ที่ผู้เข้าประกวดจะมาไลฟ์สด พูดคุยเป็นระยะ


ข่าวที่น่าสนใจ

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา