ผู้ค้ำประกัน 2 คน ค้ำประกันทำงานลูกจ้างคนเดียวกัน รับผิดอย่างไร

ผู้ค้ำประกัน 2 คน ค้ำประกันทำงาน

 

เอและบีต่างก็เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างคนเดียวกันวงเงินรับผิดคนละ  15,000  บาท  โดยค้ำประกันต่างวันต่างเวลากัน  เมื่อลูกจ้างทำความเสียหายให้แก่นายจ้างเป็นเงิน  60,000  บาท  นายจ้างฟ้องลูกจ้างและผู้ค้ำประกันทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลแรงงานให้ลูกจ้างรับผิดในเงินดังกล่าวและให้เอและบีรับผิดรายละ  15,000  บาท  เอและบีต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด?

เมื่อต้องถามหาความรับผิดของผู้ค้ำประกันหลายคนว่าจะรับผิดอย่างไร  การหาคำตอบเรื่องนี้ต้องพึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เรื่อง  ค้ำประกัน  ดูซิว่ากำหนดความรับผิดไว้อย่างไร  หากกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรก็คงต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า  มาตรา  682  วรรค  2  บอกไว้ว่า  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร์  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้น  มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันร่วมกัน  เมื่ออ่านกฎหมายแล้วได้ความชัดเจนมากตรงกับคำถามทุกประการเลย  มีผู้ค้ำประกัน  2  คนก็ถือว่าหลายคนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  ค้ำประกันหนี้ลูกจ้างรายเดียวกัน  แม้จะต่างคนต่างค้ำกฎหมายก็ถือว่าไม่สำคัญ  อย่างไรเสียก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ถ้าเช่นนั้น  คำตอบก็คือ  รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  (ใช่เลย)  แล้วลูกหนี้ร่วมคืออะไร  (นั่นนะซิ)

สรุปแล้ว  เอจะต้องรับผิดเท่าใด  บีต้องรับผิดเท่าใด  (ยังนึกไม่ออก)  ถ้าเช่นนั้นต้องหาต่อไปว่า  ลูกหนี้ร่วมคืออะไร  (เจออีกแล้ว)  มาตรา  291  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าบุคคลหลายคนต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้โดยสิ้นเชิงไซร์  แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว  (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน)  ก็ดี  เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง  หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก  แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง  (เข้าใจยากนะ)  เห็นด้วยนะว่าเข้าใจยากต้องช่วยกันแปลไทยเป็นไทยเผื่อจะเข้าใจดีขึ้น  เมื่อแปลแล้วก็สรุปได้ความว่าลูกหนี้ร่วม  คือ  มีหนี้ที่ลูกหนี้หลายคนต้องชำระโดยสิ้นเชิง  ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งอาจถูกบังคับให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้  (ตามแต่เจ้าหนี้จะเห็นสมควร)  มาดูข้อเท็จจริงตามปัญหาลูกจ้างทำความเสียหายให้นายจ้างเป็นเงิน  60,000  บาท  ตามกฎหมายลูกจ้างตกเป็นลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้นายจ้างจำนวน  60,000  บาทแน่นอน  (นี่ซิเข้าใจง่าย)  ส่วนเอกับบีเป็นผู้ค้ำประกันโดยทำสัญญารับผิดไว้คนละ 15,000  บาท  ดังนั้น  เอและบีจึงตกอยู่ในฐานะผู้ที่จะถูกบังคับให้ชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิงตามที่กฎหมายกำหนด  เอกับบีจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  (กฎหมายบอกไว้อย่างนั้น)  แต่เอต้องรับผิด  15,000  บาท บีต้องรับผิด  15,000  บาท  รวมเป็นเงิน  30,000  บาท  ตามที่นายจ้างอ้างหรือไม่  ถ้าต้องรับผิดก็น่าจะตรงไปตรงมาดีเพราะสัญญาเขียนไว้เช่นนั้น   แล้วมีปัญหาอะไรหรือ  ปัญหามีอยู่ว่าถ้าต่างคนต่างรับผิดสัญญาใครสัญญามันก็ไม่เรียกว่าลูกหนี้ร่วมกันนะซิ   เอกับบีจึงต้องรับผิดร่วมกัน (ช่วยๆกันชำระห้ามเกี่ยงกัน)  วงเงินไม่เกิน  15,000  บาท  ที่ว่ารับผิดร่วมกันก็หมายความว่าแล้วแต่เจ้าหนี้เขาจะเรียกให้แต่ละคนชำระหนี้อย่างไรก็ได้  เช่น  เจ้าหนี้อาจเรียกให้เอชำระคนเดียวทั้งหมด  15,000  บาท  ไม่เรียกให้บีชำระเลยก็ได้  หรือจะเรียกให้เอชำระบางส่วนบีชำระบางส่วนก็ได้   ดังนั้น  ความรับผิดของเอและบีจึงรวมกันไม่เกิน  15,000  บาท  ไม่ใช่รวมกันไม่เกิน  30,000  บาท  อย่างที่นายจ้างเข้าใจ  (ฎีกาที่ 4200/2536,2243/2536)

Back

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา