ทุก วันนี้มีข่าวสารทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการลักทรัพย์ในหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม แม้กระทั่งตามวัดวาอารามต่างๆ ก็มีการขโมยตู้บริจาค รวมทั้งตู้รับบริจาคตามธนาคาร ร้านค้า สำหรับเด็กก็ยังถูกขโมย แสดงให้เห็นว่าโจรผู้ร้ายนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ท่านผู้อ่านหลายท่านที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ถูก ขโมยเข้าบ้าน ถามมายังทนายคลายทุกข์ว่า บริษัทรักษาความปลอดภัย เจ้าของหมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคลต้องรับผิดหรือไม่ และมีกฎหมายอะไรบ้างที่จะคุ้มครองลูกบ้านหรือผู้อยู่อาศัย ทนายคลายทุกข์จึงขอนำตัวอย่างคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องบริษัทรักษาความ ปลอดภัยและนิติบุคคล รวมทั้งเจ้าของหมู่บ้านจัดสรร มานำเสนอดังนี้
1. ศูนย์การค้าว่าจ้าง รปภ. มีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า เมื่อ รปภ. ประมาทเลินเล่อ มีการลักทรัพย์ของลูกค้า ต้องร่วมรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542
การ ที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้า ดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
2. ห้างสรรพสินค้าจ้าง รปภ. มาดูแลความปลอดภัยให้กับลูกค้า และรถของลูกค้าหาย ห้างต้องรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 5800/2553)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553
แม้ จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี จะไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่มาจอดเพื่อใช้บริการของห้าง จำเลยที่ 1 และไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่การก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ทุกๆ 20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของห้าง โดยต้องตรวจบัตรเมื่อจะนำรถออกให้ตรงกับทะเบียนรถ จึงเป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ตามพฤติการณ์เป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จึงเป็นผู้ให้บริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 3 และนอกจากผู้บริโภคในคดีนี้แล้วยังมีผู้บริโภคอื่นอีกหลายรายที่นำรถไปจอดใน ที่จอดรถของห้างจำเลยที่ 1 แล้วสูญหายไป การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 39 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่ารถที่สูญหายไปบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ระมัดระวังในการออกบัตรจอดรถและตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้รถ ยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปใน กิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427
3. สัญญารักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก หมาย ความว่า สัญญาที่เจ้าของหมู่บ้านทำกับ รปภ. เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัย ถ้า รปภ. ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ของผู้อยู่ อาศัย รปภ.ต้องรับผิดต่อผู้อยู่อาศัยโดยตรง (ป.พ.พ.มาตรา 374)
4. เจ้าของโครงการว่าจ้าง บริษัทรักษาความปลอดภัยมารักษาความปลอดภัยให้กับผู้อยู่ อาศัย นอกจากจะเป็นผู้ว่าจ้าง เจ้าของโครงการยังเป็นตัวการมอบหมายให้ตัวแทน รปภ. รักษาความปลอดภัย หาก รปภ. ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเจ้าของโครงการ ตัวการร่วมต้องรับผิดกับ รปภ. ตาม ป.พ.พ.มาตรา 820 ประกอบมาตรา 427 (คำพิพากษาฎีกาที่ 619/2507)
5. ข้อยกเว้นความรับผิดระหว่างเจ้าของโครงการกับรปภ. ที่มีข้อกำหนดว่ายกเว้นความ รับผิด อันเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้นเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 373 ดังนั้น หาก รปภ.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เจ้าของโครงการต้องร่วมรับผิดด้วย
6. นิติบุคคลรับผิดเฉพาะทรัพย์สินส่วนกลางตามกฎหมาย แต่ถ้า รปภ. เป็นลูกจ้างของนิติบุคคล และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นต้นเหตุให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ของผู้ อยู่อาศัย นิติบุคคลในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้าง ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 425
Back