ขับรถให้ถูกกฎหมาย…ในช่วงฝนตก

week4 content2

ในช่วงฤดูฝนนี่แหละครับที่ทุกคนเบื่อหน่ายส่ายหน้ากับการเดินทางในกรุงเทพฯ มาก ขับรถก็ลำบาก ส่วนการเดินทางโดยขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินยิ่งลำบากไปกันใหญ่ เพราะต้องเผชิญกับสายฝนที่ตกโปรยปราย ต้องมีร่มหรือเสื้อกันฝนติดไม้ติดมือไปไหนต่อไหน สาว ๆ อย่างคุณผู้อ่านคงไม่รู้สึกอายที่จะพกร่มหรือเสื้อกันฝนหรอกครับ แต่หนุ่ม ๆ นี่สิดูเชยและเกะกะมากที่ต้องพกพาสิ่งของพวกนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะรังเกียจฤดูฝนมากแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่คุณต้องเผชิญคือการรับมือกับการจราจรในช่วงฤดูกาลนี้อย่างมีสติและถูกกฎจราจรนะครับ

ฝนเริ่มตก (หนัก )...ไม่เป็นฤดูกาล

ผมพูดถึงเรื่องฝนตกแบบนี้ หลายคนที่เป็นมนุษย์เมืองหลวง คงพอจะจำเหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 30 ม.ค. 51 ที่เกิดฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ส่งผลให้บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. อาทิ เขตสะพานสูง เขตประเวศ เขตบึงกุ่ม และพื้นที่ชั้นใน อาทิ เขตคลองเตย เขตจตุจักร และเขตดินแดง เกิดน้ำท่วมขังจนการจราจรเป็นอัมพาตไปเลย ซึ่งเหตุการณ์ฝนตกหนักจนน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ครั้งนั้นถือว่ามาผิดช่วง ผิดเวลา และยังมาแรงผิดปกติด้วย โดยนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ท่านก็บอกว่าช่วงเดือนมกราคมของ หลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นเดือนที่มีฝนมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่ามีอิทธิพลจากภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในอนาคตคนไทยอาจจะต้องเตรียมการที่จะรับฝนตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป แทนที่จะเป็นฤดูฝนปกติคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม !

นอกจากนี้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ท่านยังบอกอีกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลเท่านั้นนะจ๊ะ เพราะจะกระจายไปทั่วประเทศ (ผู้อ่านที่อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเตรียมรับมือด้วยนะครับ) และทั่วโลก (ก็อย่างที่เราเห็นหิมะตกหนักในจีน อิหร่าน สหรัฐฯ) โดยเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ อย่างไรก็ตามนักวิชาการเขาย้ำมาว่าสำหรับประเทศไทยคงไม่มีเรื่องหิมะตก แต่จะประสบกับปัญหาฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และฝนจะมาเร็วกว่าปกติซึ่งเราต้องเตรียมรับมือกันนั่นแหละครับ

 

 

 

ขับรถจนน้ำ โคลน...กระเซ็นโดนผู้อื่น

ปัญหาหนึ่งในช่วงที่มีฝนตกคือปัญหาที่คนซึ่งเดินอยู่บนทางเท้าดี ๆ หรือพยายามเดินอย่างระมัดระวังไม่ให้เปียกฝน กลับต้องสกปรก เปรอะเปื้อน บางทีขนาดถึงกับกระเด็นเข้าหน้าเข้าตา ก็เพราะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์วิ่งเหยียบน้ำที่เจิ่งนองหรือน้ำที่ขังอยู่ตาม หลุมบ่อข้างทาง สาดกระเซ็นถูกตัวคุณ ยิ่งถ้าไปช่วงเช้าที่ต้องรีบไปทำงานแทบจะชูสัญลักษณ์ด่าพ่อล่อแม่คนขับ เหมือนคนบ้า แต่ทำอย่างนั้นไปไม่มีประโยชน์เท่าไรหรอกครับ แค่ได้ระบายอารมณ์โกรธเท่านั้น

ถ้าคุณผู้อ่าน เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ อย่าเพียงแค่ใช้อารมณ์ครับ กรุณาใช้สติดึงอารมณ์โกรธกลับมา แล้วใช้สายตาเพ่งไปที่หมายเลขทะเบียนรถผู้ที่ขับรถจนน้ำกระเด็นใส่ตัวเรา หลังจากนั้นโทรศัพท์หรือเข้าแจ้งความกับตำรวจในสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ทันที กรณีนี้ผู้ขับรถมีความผิดเต็ม ๆ ตาม พรบ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 และ มาตรา 160 โทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนหรือปลอดภัยของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักจะพบเจอคดีนี้ก็เปิดเผยครับว่า หากเจ้าทุกข์จำทะเบียนรถคนขับที่สร้างความเดือดร้อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกผู้ขับรถมาดำเนินการ เจ้าของรถมักจะยอมรับโดยดีว่าทำผิดไปแล้วจ้า ส่วนใหญ่ตำรวจก็จะปรับหรือตักเตือนกันไปตามระเบียบ แต่ทางที่ดีแล้วเพื่อไม่ให้เดือดร้อนเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนนั้น ผมว่าในช่วงฝนตก ผู้ขับรถต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถมากกว่าปกติอีกเท่าตัว โดยเฉพาะในตรอกซอกซอยแคบ ๆ ครับ

เปลี่ยนช่องทาง...กะทันหัน

                                นิสัยหนึ่งของคนขับรถในกรุงเทพฯ คือมักจะแสวงหาเส้นทางลัดอยู่เสมอครับ ผมเคยเห็นรายการโทรทัศน์บางรายการนำเสนอเรื่องเส้นทางลัด เส้นทางด่วนในกรุงเทพฯ เป็นประเด็นหลักเลยนะครับ (ก็จะได้ไม่เสียเวลาในการขับรถนั่นแหละครับ) ซึ่งหากคุณวางแผนตั้งแต่ออกมาจากบ้านว่าจะใช้เส้นทางลัดตามแผนหนึ่ง แผนสอง แผนสาม ฯลฯ แล้วค่อย ๆ ขับตามนั้นคงไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าหากว่าวันใดวันหนึ่งฝนตกหนัก คุณรถติดอยู่ในถนนสายหนึ่ง แล้วคุณปิ้งส์ไอเดียขึ้นมาทันใดหรือสัญชาตญาณในการขับรถของคุณบอกว่าช่องทางอื่น ๆ มีทีท่าจะติดน้อยกว่าคุณก็จัดการเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน แบบนี้เสี่ยงกับอุบัติเหตุมากนะครับ และถึงแม้ไม่มีอุบัติเหตุ คุณก็ยังอาจมีความผิดตาม พรบ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โทษฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน โทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท

เปิดไฟรถ...ช่วงฝนตก

                                สำหรับการใช้สัญญาณไฟในช่วงที่ฝนตกหนักนั้น ผู้ขับรถควรเปิดไฟส่องสว่างทุกดวง เพื่อให้คุณมองเห็นรถคันอื่นได้ชัดเจนขึ้น และทำให้ผู้อื่นมองเห็นรถคุณอย่างชัดเจนเช่นกัน กรุณาอย่าเปิดเฉพาะไฟหรี่และห้ามเปิดไฟสูงโดยเด็ดขาด เพราะแสงจะสะท้อนกับน้ำฝน ทำให้คนที่ขับรถสวนมาเขาตาพร่ามัว รวมทั้งห้ามเปิดไฟกระพริบ เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถจอดเสีย จนต้องเบี่ยงทางหนี ก่อให้เกิดอันตรายได้ครับ ซึ่งในกรณีที่คุณเปิดไฟผิดประเภทหรือผิดจากเงื่อนไขที่ว่า 1) ใช้ไฟสูงแสงพุ่งไกลเมื่อไม่มีรถสวนมา หรือ 2) ใช้ไฟต่ำเมื่อมีรถสวนมา หากไม่ทำตามนี้มีโทษปรับ 500 บาท ตาม พรบ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ครับ แต่ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุร้ายใด ๆ จากการใช้ไฟผิดประเภทของคุณ คุณก็ต้องรับผิดชอบตามความรุนแรงในความผิดนั้นครับ

ให้ความช่วยเหลือ...บนท้องถนน

เรื่องหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ฝนตกคือรถเสียกลางทาง มีอุบัติเหตุ ซึ่งปัจจุบันรถที่วิ่งอยู่บนท้องถนน กฎหมายก็ระบุให้มีประกันอุบัติเหตุในแบบต่าง ๆ แต่เท่านี้ยังไม่พอหรอกนะครับ เพราะบางทีกว่าตัวแทนบริษัทประกันจะมาถึง อาจจะเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือมีเหตุใด ๆ ตามท้องถนน ผมจำได้ว่าเคยมีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทำทีเป็นว่ารถเสียตอนกลางคืน (โดยให้ผู้หญิงเป็นผู้ขับรถ) จำได้ว่ามีรถอยู่ไม่กี่คันหรอกครับที่กล้าลงมาช่วยเหลือเธอ

ในเรื่องนี้ผมคงไม่พูดถึงเรื่องน้ำใจของคนไทยหรอกครับ แต่จะพูดในแง่ของ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ระบุไว้ว่าหากคุณขับรถในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน (ไม่ว่าคุณจะผิดหรือไม่ก็ตาม) แล้วคุณไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือ หรือไม่รีบแสดงตัวและแจ้งเหตุนั้นต่อเจ้าหน้าที่เช่น ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวงที่ใกล้เคียงทันที มีโทษถึงจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ

ส่วนท่านที่ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับอุบัติเหตุแค่บังเอิญผ่านทางมาเจอผู้ที่เผชิ ญภยันอันตรายซึ่ง ๆ หน้า เช่น ตกน้ำ ถูกรถชน ถูกกระชากสร้อย ถูกทำร้าย ฯลฯ แล้วไม่เข้าไปช่วยเหลือ โดยอาจจะคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่ก็อาจกลัวว่าตนจะกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง แบบนี้ ก.ม.อาญามาตรา 374 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ ดังนั้นพบเห็นผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายซึ่งหน้าต้องรีบเข้าไปช่วยเหลืออย่างมี สติหรือรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนะครับ

ยึดใบขับขี่แล้ว...ตร. ต้องออกใบสั่ง

ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงฝนตกหนักนี่แหละครับที่คุณตำรวจมักจะเรียกตรวจหรือยึดใบ ขับขี่ในกรณีที่คุณทำผิดกฎหมายจราจร ซึ่งก็เป็นสิทธิของคุณตำรวจจราจรตาม พรบ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แต่ต้องมีเงื่อนไขนะครับ โดยในเบื้องต้นถ้าคุณไม่ทำผิดกฎหมายจราจรอะไร เขาก็อาจจะเรียกตรวจเพื่อดูว่าคุณขับขี่รถยนต์โดยมีใบขับขี่หรือไม่ (กรณีตั้งดานตรวจอย่างถูกต้อง) แต่ถ้าหากคุณทำผิดกฎหมายจราจร คุณจะถูกเรียกให้จอดรถ แล้วตำรวจจะแจ้งให้คุณทราบก่อนว่าจะตรวจเนื่องจากข้อหาอะไร แล้วเขาก็จะต้องออกใบสั่งให้คุณถือไว้

ไอ้เจ้าใบสั่งนี่แหละครับ จะเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ของตำรวจ ในการที่จะไม่ถูกข้อหาว่าลักทรัพย์ คือใบขับขี่ของคุณนั่นเอง ส่วนตัวคุณก็สามารถใช้ใบสั่งนั้นแทนใบขับขี่ในระหว่างที่คุณยังไม่ได้นำใบสั่งไปเสียค่าปรับ ซึ่งหากในระยะเวลาที่คุณยังถือใบสั่งใบแรกไว้ คุณกลับทำผิดกฎหมายจราจรอีก คุณก็จะถูกยึดใบสั่ง แล้วได้รับใบสั่งใบที่สองเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น เพราะว่า คุณต้องไปเสียค่าปรับใบสั่งใบที่สอง เพื่อเอาใบสั่งใบแรกออกมา แล้วจึงจะนำใบสั่งใบแรกนั้นไปเสียค่าปรับ เพื่อนำใบขับขี่กลับคืนมา น่าเวียนหัวไหมล่ะครับ ดังนั้นอย่าทำผิดกฎหมายจราจรเป็นดีที่สุด

ไม่ว่าฝนจะตกหนักเบามากน้อยแค่ไหนคุณผู้อ่านก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายจราจรเป็นหลักประกันความปลอดภัยของทั้งตัวคุณเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ครับผม

 

 

Back

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา