คุ้มครองผู้บริโภค...ด้วยฉลากสินค้า
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้ความหมายของคำว่า ฉลากในมาตรา 3 ว่าหมายถึง “รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษ หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุหีบห่อ บรรจุสินค้า สอดแทรกหรือรวมไว้กับสินค้าหรือภาชนะบรรจุสินค้า และหมายความรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า พร้อมทั้งป้าย ที่ติดตั้ง หรือแสดง ไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุหีบห่อที่บรรจุสินค้านั้น”
ส่วนสินค้าควบคุมฉลากจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย ต้องทำฉลากเป็นข้อความภาษาไทย มีความหมายตรงกับข้อความในภาษาต่างประเทศ โดยระบุชื่อพร้อมสถานที่ ประกอบการของผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าสินค้านั้น และต้องมีรายละเอียด เกี่ยวกับสินค้าตามประกาศที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้ กำหนดไว้ในแต่ละประเภทของสินค้า
สินค้าที่ต้อง...ควบคุมฉลาก
ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก คือ 1) สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการใช้สินค้าหรือสภาพของสินค้านั้น เช่น ภาชนะพลาสติก - เต้ารับ - เต้าเสียบ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนต์ เครื่องตัดวงจรไฟฟ้า ฯลฯ และ 2) สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้น จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น เช่น สีผสมอาหาร สมุด ปากกาลูกลื่น ภาชนะ กระดาษที่ใช้กับอาหาร กระดาษเช็ดหน้า กระดาษชำระ เป็นต้น
ฉลากอาหาร...ควบคุมเป็นพิเศษ
สำหรับสินค้าประเภทอาหารซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของผู้คน พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จึงกำหนดการขอขึ้นทะเบียนอาหารและขออนุญาตใช้ฉลาก ต่อมาเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะสามารถทำการผลิต โดย พ.ร.บ.อาหารกำหนดให้มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร บอกชนิด ประเภท ส่วนประกอบ ปริมาณสุทธิ วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อนเมื่อใด รายละเอียดบนฉลากต้องเป็นภาษาไทย มีชื่อเฉพาะ ชื่อสามัญหรือที่ใช้กัน ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิต เลขทะเบียนตำรับอาหาร เลขที่ใบอนุญาต
ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอาหาร 39 ชนิด ที่ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนด เช่น น้ำแร่ น้ำมันบริโภค นม สีผสมอาหาร น้ำปลา น้ำส้มสายชู ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนซึ่งกระทรวงสาธารณสุขควบคุมอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง หนู ยุง สีย้อม ฯลฯ โดยมีการแบ่งแยกตามลักษณะอันตรายตามความจำเป็นในการควบคุม ดังนั้นฉลากของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ต้องมีชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ อัตราส่วนของสารผสมสำคัญ ชื่อทางการค้า ประโยชน์และวิธีใช้ นอกจากนั้นยังต้องมีคำเตือน ข้อควรระวัง วันหมดอายุด้วยครับ
จงใจ...ปลอมแปลงฉลาก
เมื่อกฎหมายกำหนดสินค้าให้มีฉลากที่ถูกต้อง แต่บางครั้งก็จะมีผู้ผลิตหรือผู้ขายบางคนเจ้าเล่ห์แสนกลปลอมแปลงฉลาก ผู้หลอกลวงหรือลวงขายสินค้าโดยปลอมแปลงฉลากมีความผิดทั้งตาม ก.ม.อาญา ก.ม.แพ่งและพาณิชย์ รวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคด้วยนะครับ โดยใน ก.ม.อาญามาตรา 271 ระบุถึงความผิดทางการค้าที่ว่าด้วยการขายของโดยหลอกลวง ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ ส่วนความผิดตามกม.แพ่งและพาณิชย์ คือ ต้องชดใช้ความเสียหายต่างๆ นาๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ทั้งฉบับ พ.ศ.2522 และ พ.ศ.2541) โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ระบุไว้ในมาตรา 47 ว่า ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าคนที่ทำผิดนั้นไม่หลาบจำ กระทำผิดซ้ำอีก แบบนี้ โทษก็จะเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ
หนักกว่านั้นกฎหมายกำหนดถึงขนาดที่ว่าถ้ายังปลอมแปลงฉลากอย่างต่อเนื่อง ปรับวันละไม่เกิน 10,000 บาทครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายหากเป็นผู้ปลอมแปลงฉลากก็ต้องรับโทษตาม กฎหมายนี้หมดเลยแหละครับคุณผู้อ่าน
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา