ผมยอมรับเลยนะครับว่าในโลกใบ นี้ความรักของพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่ที่สุด ที่พูดนี้ไม่ได้เป็นเพราะว่าผมเป็นพ่อคนแล้วนะครับ แต่ในนามของลูกนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมเห็นถึงความรักของพ่อแม่ โดยเฉพาะความรักของแม่นั้นบรรยายความรักความผูกพันสามวันสามคืนก็ไม่หมด ผมเคยประทับใจในคำพูดของนักคิดทางตะวันตกคนหนึ่งที่บอกไว้ว่า “แม่เป็นของขวัญพิเศษที่พระเจ้าประทานมาให้กับลูกทุกคน” คุณผู้อ่านคิดเหมือนคำพูดนี้ไหมครับ
พูดถึงความรักของแม่แล้ว เราคงต้องยอมรับเลยนะครับว่าในภาวะปัจจุบันที่ผู้หญิงแต่งงานช้า (ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ว่ากันไป) พอแต่งงานช้าก็เลยมีลูกยาก ส่งผลให้เกิดคุณแม่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งคุณแม่รับเด็กมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม คุณแม่มือเดี่ยวซิงเกิลมัม (Single mom) คุณแม่ที่ให้ผู้อื่นอุ้มบุญให้ ฯลฯ แล้วคุณแม่พิเศษ ๆ เหล่านี้ ในทางกฎหมายแล้วมีความพิเศษใดๆ หรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ผมจะคุยกับคุณผู้อ่านนอกเหนือจากความเป็นแม่ (พ่อ) ลูกธรรมดาๆ ครับ
สัมพันธ์ทางกฎหมาย...ของแม่ลูก
ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างแม่ลูกของกฎหมายไทยนั้นก็พิจารณาจากธรรมชาติ ของความรักความเอื้ออาทรของแม่ที่มีต่อลูกตั้งแต่ความอดทนที่ต้องแบก ท้องกลมๆ หรือแหลมๆ (ผมยังไม่เห็นผู้หญิงคนไหนตั้งท้องเหลี่ยมๆ เลยครับ) เป็นเวลา 9 เดือนกว่าจะคลอดออกมา (เด็กบางคน 9 เดือนแล้ว แม่ยังไม่คลอดเลยครับ จนหมอต้องผ่าออก) พอลูกคลอดแล้วร้องอุแว้ ๆ แม่ทุกคนที่เป็นผู้คลอดลูกจะกลายเป็นผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กทันที ไม่ว่าคุณแม่คนนั้นจะจดทะเบียนสมรสกับผู้ที่ได้ชื่อเป็นพ่อของเด็กหรือไม่ก็ตาม
ถ้าสามีภรรยาคู่นั้นจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย คุณพ่อก็จะเป็นผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายร่วมกับคุณแม่ครับ อำนาจอันนี้คือสิทธิการปกครองลูก หรือสิทธิในการกำหนดถิ่นที่อยู่อาศัย ส่วนทางออกของคุณพ่อที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับแม่ของลูก (ด้วยเหตุผลต่างๆ อีกนั่นแหละครับ) กฎหมายก็ให้สิทธิคุณพ่อไปจดทะเบียนรับรองบุตร ตาม กม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 ลูกจะได้มีสิทธิรับมรดกของพ่อ และได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อให้เป็นเรื่องเป็นราว
สิทธิของ...ซิงเกิลมัม
สำหรับคุณแม่มือเดี่ยวที่ตอนนี้สังคมไทยยอมรับมากขึ้นนะครับ สำหรับการเป็นคุณแม่ที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ จากเดิมอาจจะมองว่าเป็นผู้หญิงที่บกพร่องสามีเลยทิ้ง ปัจจุบันไม่ใช่แล้วครับ สังคมเห็นใจเธอมากขึ้น เช่น คุณแม่มือเดี่ยวอาจจะไม่มีความสุขที่ต้องอดทนใช้ชีวิตกับผู้ชายที่ไม่เหมาะ เป็นพ่อของลูก ขืนใช้ชีวิตร่วมกันไปก็อาจทำให้ลูกมีปัญหา
ในทางกฎหมายนั้นก็เหมือนกับกรณีจดทะเบียนสมรสกับไม่จดทะเบียนสมรสนั่นแหละ ครับ คือในกรณีคุณแม่มือเดี่ยวก็ต้องยอมรับว่าย่อมไม่มีการจดทะเบียนสมรส (เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เรียกว่า “แม่มือเดี่ยว”) ดังนั้นสิทธิการปกครองลูกย่อมเป็นของคุณแม่มือเดี่ยวเพียงผู้เดียว แต่กฎหมายก็ให้สิทธิกับคุณพ่อ (ที่อาจเพิ่งรู้ทีหลังว่าตนเองไปมีลูกกับผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง) ไปจดทะเบียนรับรองบุตร ตาม กม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละครับ
แม่มีภาษีดีกว่า...ถ้าฟ้องแย่งลูก
ในกรณีที่จดทะเบียนกันแล้วก็อาจมีการหย่าร้าง แล้วไม่สามารถตกลงเรื่องสิทธิการปกครองลูกได้ คุณผู้ชายทั้งหลายต้องจำประโยคสุดคลาสสิคในสังคมไทยคือ “ขาดแม่เหมือนแพแตก” แปลว่าอะไรในการพิจารณาคดีเรื่องศึกชิงลูกนะหรือครับ ก็แปลว่าผู้ชายมักจะเสียเปรียบผู้หญิง เพราะศาลไทยมักเห็นว่า ผู้หญิงนั้นสามารถทำหน้าที่ของพ่อและแม่พร้อมกันไปได้ดีกว่าผู้ชาย ดังนั้นเมื่อศาลต้องพิจารณาให้สิทธิในการปกครองระหว่างพ่อหรือแม่ในการหย่าร้างกัน หากทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูกทั้งคู่ อย่างเท่าเทียมกัน ท้ายที่สุดแล้วคุณผู้หญิงจะได้สิทธิในการปกครองลูกครับ
แม่บุญธรรม...ต้องจดทะเบียนรับลูก
สำหรับคุณแม่ที่แต่งงานมานานปีแต่ก็ยังไม่มีลูกสักที เลยคิดจะไปรับเด็กมาเลี้ยงเพื่ออุปการะให้ได้รับการศึกษา ความรักความเอาใจใส่ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้เลยทันทีนะครับ กฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าการที่คุณจะรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม คุณกับเด็กคนนั้นๆ ต้องอายุห่างกันอย่างน้อย 15 ปีขึ้นไป คู่สมรสของคุณก็ต้องยินยอม และไม่ใช่ว่าแค่จะนำเอาเด็กมาอุปการะให้การศึกษา เลี้ยงดูทางร่างกาย จิตใจ เท่านั้นนะครับ คุณยังต้องจดทะเบียนรับเขาเป็นบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย นะครับ โดยถ้าหากพ่อแม่เด็กคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ และเด็กก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ของเด็กต้องให้ความยินยอมทางกฎหมาย ซึ่งในการนี้พ่อแม่จริงๆ ของเด็กก็ยังมีสิทธิปกครองร่วมกับพ่อแม่บุญธรรมด้วย แต่ถ้าเป็นกรณีเด็กถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ คุณก็ต้องให้สถานสงเคราะห์ให้ความยินยอมก่อนนะครับ
ลูกติดของคู่สมรส…ก็ต้องจดทะเบียนรับลูก
คุณผู้อ่านซึ่งแต่งงานกับพ่อม่ายหรือแม่ม่ายที่มีเรือพ่วง 2-3 ลำ ตามมาด้วย ใช่ว่าลูกของเธอและลูกของฉันจะกลายเป็นลูกของเราโดยอัตโนมัติจากการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ เพราะว่าสามีหรือภรรยาที่มีคู่สมรสที่มีลูกติด ต้องไปจดทะเบียนรับลูกติดของคู่สมรสเป็นลูกบุญธรรมเช่น กัน หากมีความประสงค์จะรับลูกติดเป็นลูกบุญธรรม ใช่ว่าจะได้รับเป็นของแถมจากการแต่งงานกับแม่ม่ายหรือพ่อม่ายด้วยการได้บุตร บุญธรรมทันทีนะครับ
พ่อ แม่ ลูก…ต้องดูแลกัน
ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือพ่อหรือลูก นอกจากสายใยแห่งความรักความผูกพันแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้บุคคลทั้งสามนี้ ดูแลกันไปตลอดครับ นั่นก็คือ เมื่อคุณผู้อ่านยังเป็นเด็กจนบรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูคุณ แต่เมื่อคุณบรรลุนิติภาวะแล้ว คุณต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ครับ โดยใน กม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1563-1564 ระบุไว้ว่า “บุตร (ตามกฎหมาย) จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” และ “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” นอกเสียจากว่าลูกที่บรรลุนิติภาวะนั้นมีปัญหาพิการจนไม่สามารถทำมาหากินได้ พ่อแม่ถึงต้องทำหน้าที่เลี้ยงดู ตามกม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรค 2 ระบุว่า “บิดามารดาจำต้องเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้” ดังนั้นใครที่ไม่ได้พิกลพิการแต่ยังให้พ่อแม่เลี้ยงดูทั้งๆ ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ต้องพิจารณาตัวเองนะครับ
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...ทอดทิ้งกัน
เมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ระหว่างแม่ (พ่อ) ลูก ว่าต้องดูแลกันไป ในกรณีที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือแม่วัยรุ่นคลอดลูกแล้วเอาไปทิ้งไว้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ (ถ้าเป็นหนังไทยโบราณ ก็จะไปทิ้งไว้หน้าบ้านเศรษฐีครับ) แบบนี้เป็นความผิดอาญามาตรา 306 ที่ระบุว่า “ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกิน 9 ปี ไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ถ้าเด็กที่ถูกทอดทิ้งได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต โทษก็จะหนักขึ้นกว่านี้ เผลอๆ ถึงขั้นได้รับโทษทำร้ายผู้อื่น (ทอดทิ้ง) จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย มีโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี เลยนะครับ บางคนทราบเช่นนี้แล้วก็เลยรอให้เด็กมีอายุครบ 9 ปี ก่อนจึงเอาไปทิ้ง กฎหมายก็มีโทษสำหรับคนพวกนี้ด้วย คือโทษจากการทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้โดยประการที่น่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน
ส่วนลูกบางคนที่มีหลักฐานปรากฏว่ามีรายได้ มีฐานะ แต่กลับไม่อุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ว่าสามารถอุปการะเลี้ยงดูท่านได้ จนทำให้ท่านได้รับความเดือดร้อน หรือมีความเป็นอยู่ไม่สมควรแก่อัตภาพ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากลูกที่ทอดทิ้งพ่อแม่ได้เลยครับ นอกจากนี้คือ ลูกบางคนก็รู้ทั้งรู้ว่าพ่อแม่ไม่ค่อยสบาย หรือมีความพิการ และถ้าตัวเองไม่ดูแล อาจทำให้ท่านเกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่ก็ยังใจดำทอดทิ้งพ่อแม่ไปอีก ลูกแบบนี้ต้องรับโทษตาม ก.ม.อาญามาตรา 307 คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ แต่บทลงโทษที่สาสมสำหรับพวกนี้คือการประณามทางสังคม ซึ่งเจ็บปวดกว่าการรับโทษทางกฎหมายเยอะครับ
ร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ...ความหวังคุณแม่มีลูกยาก
เคยมีทั้งรายการโทรทัศน์หรือนิตยสารมาสัมภาษณ์ผมซึ่งเป็นนักกฎหมายคนหนึ่ง ว่าสมควรที่จะยอมรับการอุ้มบุญให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายไหม ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่า “สมควรต้องมี พ.ร.บ.อุ้มบุญให้ชัดเจนไปเลย เพื่อให้ทันกับยุคสมัย ก่อนที่จะเกิดปัญหาแย่งชิงเด็ก หรือสิทธิตามกฎหมายของเด็ก” ซึ่งปัญหามันก็เคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ.2543 ที่กรมบัญชีกลางหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สามี-ภรรยาที่เป็นข้าราชการให้หญิงอื่น (ที่ไม่ใช่ข้าราชการ) อุ้มบุญตั้งครรภ์แทนจะสามารถเบิกค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล บุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญได้หรือไม่ ซึ่งผลของการตีความคือ ไม่สามารถเบิกสวัสดิการดังกล่าวได้ครับ
เมื่อเกิดเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เขาจัดโครงการวิจัยในเรื่องนี้มาตลอดและกำลังพัฒนาไปสู่การร่าง “พ.ร.บ.การรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ....” สาเหตุที่กฎหมายฉบับนี้ได้มีการจัดทำร่างขึ้นก็เพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ การคุ้มครองสามีภรรยาด้านสิทธิของการเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ
เงื่อนไข...จากร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ
ผมได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วก็อยากเล่าให้คุณผู้อ่าน ทราบถึงรายละเอียดในการควบคุมการรับตั้งครรภ์แทน เช่น คู่สามีภรรยาที่จะทำอุ้มบุญต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อคู่สามีภรรยาได้สิทธิเป็นบิดามารดาของเด็กอุ้มบุญ ส่วนหญิงที่จะอุ้มบุญและคู่สมรสต้องมีสัญชาติไทย หญิงที่จะตั้งครรภ์แทนต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส โดยหญิงดังกล่าวต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิอย่างครบถ้วน สามีของผู้ที่จะอุ้มบุญต้องยินยอมด้วย การตั้งครรภ์ต้องมิใช่เพื่อการค้า การตั้งครรภ์ในกรณีอุ้มบุญต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยวิธีทำเด็ก หลอดแก้ว นำไข่และอสุจิของคู่สามีภรรยาเท่านั้น ไม่ใช่เชื้อหรือไข่ที่ได้รับการบริจาค ซึ่งเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมานี้เพื่อมิให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งให้ชาวต่างชาติมาทำการอุ้มบุญ อย่างที่หลายฝ่ายกังวลครับ
ก็ต้องลุ้นกันต่อไปนะครับสำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ส่วนคุณผู้หญิงท่านไหนที่หวั่นไหวกับการเป็นแม่ กลัวว่าจะทำหน้าที่ไม่ดีพอ เชื่อผมเถอะครับว่าถ้าคุณมีความพร้อมทางฐานะ ความคิด อารมณ์ ช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศนี้เถอะครับ เพราะล่าสุดจำนวนเด็กไทยมีอัตราน้อยกว่าคนชราที่อายุยืนยาว จนนักประชากรศาสตร์เขาหวั่นเกรงกันว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีแต่คนสูงวัยที่เป็นภาระของรัฐบาล ในขณะที่คนในวัยแรงงาน (ซึ่งก็คือเด็กที่คลอดหรือเป็นทารกขณะนี้) จะมีน้อยลง...ดังนั้นถ้าคุณพร้อม ผมคิดว่าคุณก็สามารถเป็นคุณพ่อและคุณแม่ที่ดีต่อไปได้ในภายภาคหน้าครับ
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา