ในภาวะที่คุณผู้อ่านเริ่มมีปัญหากับการใช้หนี้คืน เช่นอาจจะชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินใช้จ่ายหนี้คืน เงินสำรองต่างๆ เริ่มลดน้อยถอยลง ฯลฯ มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องคุยกับเจ้าหนี้เพื่อประนอมหนี้ ซึ่งในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีระบุไว้ดังนี้ครับ มาตรา 850 “อันว่าประนีประนอมยอมความนั้นคือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หรือจะมีข้อนั้นให้เสร็จไปด้วยตามยอมผ่อนผันให้แก่กัน” แปลว่าล้มกระดานอันเก่า เช่นอาจจะรวมหนี้สินทั้งหมด คิดดอกเบี้ยใหม่แล้วยืดเวลา เป็นต้นครับ
ส่วนมาตรา 851ก็บอกเอาไว้ว่าการประนอมหนี้นั้นต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง กันนะครับ “อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับ ผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หลังจากที่ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจะส่งผลให้สัญญาหนี้เดิมถูกยกเลิก แล้วบังคับใช้ตามสัญญาใหม่ ซึ่งจะดีหรือไม่ดีต่อตัวลูกหนี้นั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาใหม่ครับ
การปรับโครงสร้างหนี้ก็คือการประนอมหนี้นั่นแหละครับ โดยพจนานุกรมทางด้านธุรกิจให้ความหมายของ “การปรับโครงสร้างหนี้” ไว้อย่างชัดเจนว่าหมายถึง “คำสั่งศาลหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างธุรกิจที่มีปัญหาทางการเงิน และเจ้าหนี้ เพื่อจัดระเบียบหนี้สินเสียใหม่ให้มีทางเลือกที่เป็นไปได้มากขึ้นในการชำระ หนี้หรือเพิ่มสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้อาจรวมไปถึงการยกหนี้ การกำหนดระยะเวลาการชำระเงินใหม่ และหรือการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนเสียใหม่”
เมื่อผมเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ของพจนานุกรมเสรีคือ Wikipedia เขาก็ให้ความหมายที่บ่งบอกถึงเป้าหมายของการปรับโครงสร้างหนี้ไว้ด้วยนะครับ โดยระบุว่า “การปรับโครงสร้างหนี้ คือ กระบวนการที่ยอมให้ธุรกิจของรัฐหรือของเอกชนที่ประสบปัญหาการไหลเวียนของ เงินสดและความเดือดร้อนทางการเงิน ทำการลดและต่อรองใหม่ในหนี้สินที่มีการละเมิดสัญญาตามกฎหมาย เพื่อที่จะปรับปรุงหรือทำให้สภาพคล่องกลับมาเหมือนเดิม และฟื้นฟูใหม่จนกระทั่งสามารถดำเนินงานต่อไปได้” แปลว่าวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ต้องนำมาซึ่งความสามารถในการใช้หนี้คืนของ ลูกหนี้ด้วยนะครับ
ลูกหนี้ควรจะรู้และพินิจพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาใหม่ให้ดีว่า การปรับโครงสร้างหนี้หรือการประนีประนอมยอมความจะได้หรือเสียอย่างไร และการใช้วิธีการตามสัญญาใหม่กับสัญญาเดิมอย่างไหนจะดีกว่ากันซึ่งเหรียญมี สองด้านฉันใด การปรับโครงสร้างหนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ
สำหรับข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้ก็คือยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป ในกรณีที่ไม่สามารถชำระได้ตามข้อสัญญาครั้งแรก และเป็นการรวมหนี้ที่อยู่กระจัดกระจายกลายมาเป็นยอดเดียวกัน (อันนี้ก็อย่างที่เรียนเอาไว้ตั้งแต่แรกว่าข้อตกลงใหม่เป็นเช่นไร) นอกจากนี้บางธนาคาร หรือบางเจ้าหนี้ อาจจะมีข้อเสนอรวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มาเป็นหนี้ยอดเดียวกัน และคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม
1) การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้หรือธนาคารมักจะรวมยอดหนี้เดิมที่บวกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าทวงถามในช่วงที่ลูกหนี้หยุดชำระหนี้ แล้วกลายเป็นยอดหนี้ใหม่ และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม แต่กลายเป็นว่ายอดหนี้เพิ่มขึ้นอีกบานตะไท
2) กรณีการนำหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อมารวมกันกลายเป็นสัญญาฉบับใหม่ ในระยะแรกของการทำสัญญาลูกหนี้ก็ยังพอจ่ายไหว แต่พอสักระยะหนึ่งหากเริ่มจ่ายไม่ไหวขึ้นมา เจ้าหนี้ก็จะใช้สัญญาฉบับใหม่ ในการส่งฟ้อง (การฟ้องจะไม่ใช้สัญญาเก่าของหนี้แต่ละตัว) ทำให้ถึงตอนถูกฟ้อง ลูกหนี้ไม่มีข้อต่อสู้ เนื่องจากเป็นสัญญาใหม่ และทำได้เพียงยื่นคำให้การต่อสู้เพื่อขอยืดระยะเวลา และพอศาลนัดพิจารณาก็อาจจะต้องขอไกล่เกลี่ย แต่ยอดหนี้ก็ไม่สามารถลดลงได้ เนื่องจากเจ้าหนี้ทำสัญญาใหม่ดอกเบี้ยต่ำ ลูกหนี้จะหมดข้อต่อสู้
3) หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มีอายุความต่างกัน (อายุความคดีบัตรเครดิต 2 ปี อายุความคดีสินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี) และหนี้ทั้งสองการคิดดอกเบี้ยก็อยู่ในอัตราที่ต่างกัน ดังนั้นหากคุณผู้อ่านไม่มีเงินชำระหนี้ในกรณีที่มีหนี้หลายตัว ก็ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ และหากจะปรับโครงสร้างหนี้ก็ควรจะเป็นเฉพาะหนี้แต่ละสัญญาไป แต่เนื่องจากธนาคารหรือเจ้าหนี้ปัจจุบันจะปล่อยกู้ทั้งบัตรเครดิตและสิน เชื่อ เวลาเสนอปรับโครงสร้างหนี้ก็จะเสนอให้คุณเห็นว่าคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่หากพิจารณาแล้วเป็นการเพิ่มยอดหนี้ที่รวมทั้งหมดแถมยังไม่มีการนำประเด็น อายุความและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดมาใช้ต่อสู้ทางคดีอีก
4) ประเด็นสุดท้ายที่คุณผู้อ่านต้องพิจารณาคือเมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วหากมี การฟ้องร้องคดี ต่อมามีการไกล่เกลี่ยที่ศาล และมีการตกลงชำระหนี้ตามที่ตกลงกันที่ศาล รวมทั้งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ก็ถือว่าคดีสิ้นสุด เมื่อถึงเวลานั้นหากคุณไม่ชำระหนี้อาจมีผลมาถึงขั้นอายัดทรัพย์, อายัดเงินเดือนเร็วขึ้นเลยนะครับ เพราะถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว
ในกรณีลูกหนี้ที่หยุดชำระหนี้ ระยะเวลาฟ้องร้องที่เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิในการฟ้องร้อง คือหากเป็นหนี้บัตรเครดิต ระยะเวลา 2 ปี หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี หนี้ระหว่างบุคคลทั่วไป 10 ปี ส่วนการยึดทรัพย์นั้นคุณผู้อ่านจำไว้เลยนะครับว่า ทรัพย์สินที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน โทรทัศน์ เครื่องครัว ฯลฯ มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรกห้ามเจ้าหนี้ยึด แต่หากเป็นทรัพย์สินมีค่าประเภท สร้อย แหวน นาฬิกา ฯลฯ เจ้าหนี้สามารถยึดได้เลย นอกจากนี้ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท กฎหมายห้ามเจ้าหนี้ทำการอายัด (แต่ภาระหนี้ก็ยังไม่ได้หมดไปนะครับ เพียงแต่ชะลอไว้ก่อน) แล้วยิ่งถ้าหากลูกหนี้เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำส่วนราชการ ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือนเหล่านั้นนะครับ
เรื่องปรับโครงสร้างหนี้นั้นเป็นเรื่องข้อตกลง ข้อสัญญาซึ่งท้ายที่สุดลูกหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้นะครับ แต่ต้องเป็นหนี้ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตและเงื่อนไขทางกฎหมาย อ้ออีกอย่างหนึ่งนะครับอย่าไปกู้เงินนอกระบบมาใช้คืนหนี้ในระบบโดยเด็ดขาด ครับ เพราะตรงนั้นกฎหมายเข้าไปช่วยเหลือคุณได้ลำบากมากแถมยังเป็นการแก้ปัญหาแบบ ผิดวิธีด้วยนะครับคุณผู้อ่าน
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา