ไตร่ตรอง...ภาวะการเงิน
เอาหล่ะครับเมื่อเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินที่มีอยู่เริ่มที่จะทยอยใช้หนี้คืนตามปกติไม่ได้แล้ว ก็ต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไปครับ อันดับแรกคือ “หยุดสร้างหนี้เพิ่ม” ครับ เช่นกู้เจ้าหนี้รายใหม่มาใช้คืนเจ้าหนี้รายเดิมแบบนี้อย่าทำโดยเด็ดขาดครับ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบยิ่งอย่าไปข้องเกี่ยว หลังจากนั้นลองทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อที่คุณจะได้ทราบว่าคุณมีความสามารถชำระหนี้ในแต่ละเดือนเท่าไหร่ เท่านั้นยังไม่พอครับลองทำบัญชีหนี้สินแยกประเภท ว่าข้าพเจ้านั้นมีหนี้บัตรเครดิตอยู่เท่าไหร่ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเท่าไหร่ หนี้เช่าซื้อรถ บ้าน ฯลฯ เท่าไหร่ รวมทั้งหนี้นอกระบบด้วยครับ แล้วลองพิจารณามูลหนี้ที่เหลืออยู่ รวมทั้งเงินขั้นต่ำที่คุณต้องจ่ายชำระเพื่อที่จะทราบภาระหนี้สินทั้งหมด การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ดีที่สุดคือ การใช้เงินสดคงเหลือของตัวคุณเองในการชำระหนี้ โดยห้ามสร้างหนี้เพิ่มเด็ดขาด
สินเชื่อส่วนบุคคล...ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 15 %
ในขั้นตอนของการไตร่ตรองทางภาวะการเงินนั้น ต้องย้ำไว้ในส่วนของสินเชื่อที่เกิดขึ้นกับบริษัทสินเชื่อประเภทบัตรเครดิตหรือเงินด่วนควิก แคช ฯลฯ อะไรทั้งหลายนั้นนะครับ อันดับแรกคุณผู้อ่านต้องมานั่งพิจารณาดูว่ามีการเก็บดอกเบี้ยในอัตราเกินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่ และเมื่อรวมกับค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆตามที่ได้จ่ายไปจริง ไม่ให้คิดเกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีนะครับ ในกรณีนี้ถึงแม้คุณจะมีรายได้พอจะใช้หนี้ ก็ให้คุณชำระคืนจนครบเงินต้นและดอกเบี้ยที่กำหนดตามกฎหมายเท่านั้น แล้วให้หยุดชำระหนี้ทันที
นอกจากนี้ในส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลาย คุณต้องพยายามรวบรวมเงินต้นที่ค้างชำระพร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไปจ่ายหนี้ให้หมดกับเจ้าหนี้ (อย่างที่บอกไปแล้ว) หรือไม่หากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ ก็ให้นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บริษัทเงินด่วนมาฟ้องร้องดำเนินคดีให้คุณเสียประวัติว่าผิดสัญญาได้นะครับ
หักรายจ่ายแล้ว...เงินไม่พอใช้หนี้
ส่วนท่านผู้อ่านท่านใดที่หากได้นั่งนอนคิดคำนวณเงินสดที่เหลือจากค่าใช้จ่าย จิปาถะในชีวิตประจำวัน หักรายจ่ายไม่จำเป็นเช่นกินข้าวนอกบ้าน ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ฯลฯ แล้วก็ยังปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่ไม่พอสำหรับชำระหนี้ในแต่ละเดือน เช่นมีหนี้มากกว่าความสามารถชำระหลายเท่า ก็ต้องใช้วิธีชะลอการจ่ายหนี้ทั้งหมดไว้ก่อนหล่ะครับ (เพราะไม่รู้จะหาที่ไหนมาจ่าย) แต่สำหรับการชะลอจ่ายหนี้ในระบบนั้น มีเจ้าหนี้บางรายตที่คุณหยุดจ่ายไม่ได้ อาทิ เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินเดียวกับแบงค์ที่เงินเดือนคุณเข้าบัญชีอยู่ เนื่องจากเงินเดือนของคุณจะเสี่ยงต่อการถูกยึดไปชำระหนี้แทนที่จะปล่อยออกมา ให้คุณใช้จ่าย แต่ทั้งนี้เจ้าหนี้ดังกล่าวต้องฟ้องร้องหรือมีสัญญาข้อตกลงในการหักเงินใน บัญชีกับคุณก่อนนะครับ
คุณผู้อ่านบางท่านอาจบอกว่า “อ.ประมาณ ให้ชะลอจ่ายหนี้ ชั้นก็จะหยุดจ่ายชำระหนี้คืนหน้าตาเฉยนี่แหละ” มิได้นะครับ จำไว้ว่าหลังจากที่คุณชะลอการจ่ายหนี้ออกไปนั้น คุณต้องพยายามเก็บเงินก้อนเพื่อต่อรองขอส่วนลดปิดบัญชี (hair cut) โดยค่อยๆ ทยอยปิดบัญชีทีละตัว หลักการคือใช้เงินที่เก็บรวบรวมได้ให้คุ้มค่าที่สุด รายไหนลดมากสุด และพอกับเงินที่เก็บได้ให้ปิดไปก่อนครับ หรือแม้ว่าถ้าคุณลองคำนวณรายได้ที่คุณมีแล้ว มีพอเพียงแค่ใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่พอผ่อนชำระหนี้ ด้วยเหตุที่มีมูลหนี้สูง หรือมีหนี้อยู่หลายเจ้า ผ่อนไปก็ได้เพียงแค่ดอกเบี้ยแต่เงินต้นแทบไม่หด ถ้าจะชำระมากกว่านั้นครอบครัวก็จะไม่มีอะไรกิน อย่างนี้ถึงส่งไปจนตายก็ไม่เกิดผลอะไรกับคุณ จึงมีข้อแนะนำว่าให้คุณหยุด (ชะลอ) ชำระหนี้เช่นกัน เพื่อรอให้ทางเจ้าหนี้ฟ้องศาล ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นทางเลือกต่อไป
การถูกฟ้องศาลในคดีหนี้...ดีกว่าถูกทวงหนี้โหดๆ
โดยทั่วไปนั้นนะครับถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เจ้าหนี้มักไม่อยากให้คดีขึ้นสู่ชั้นศาล โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เพราะกฎหมายไม่ให้สิทธิคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีและเมื่อรวมกับค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่ได้จ่ายไปจริง ไม่ให้คิดเกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปี แต่เจ้าหนี้พวกนี้มักจะคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างๆ รวมแล้วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องจนคดีขึ้นสู่ศาลแล้วลูกหนี้ยกเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้ เจ้าหนี้ก็จะเสียเปรียบ หรือมิเช่นนั้นศาลก็อาจตัดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ครับ
หากมีการฟ้องแล้วไปไกล่เกลี่ยที่ศาล และมีการตกลงชำระหนี้ตามที่ตกลงกันที่ศาล หรือมีการประนีประนอมยอมความก็ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว หากต่อมาลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ศาลมีคำสั่ง ก็ใช่ว่าเจ้าหนี้จะยึดหรืออายัดทรัพย์ เงินเดือนของลูกหนี้ได้ทันทีนะครับ เจ้าหนี้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการบังคับคดีไม่ว่าจะเป็นการยึด อายัดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือนตามเงื่อนไขของกฎหมาย (ที่ไม่ใช่ว่าจะยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์ของเราจนไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้) ซึ่งการตัดสินของศาลจะทำให้ลูกหนี้บางรายมีโอกาสต่อรองลดหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้อาจมองว่าลูกหนี้รายนี้ไม่มีทางที่จะชำระหนี้ต่อไปได้อีก และ ที่สำคัญการบังคับคดีอันได้แก่การถูกยึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือนนั้นมีความเป็นธรรมกว่าการทวงหนี้แน่นอนครับ
การทำส่วนลดปิดบัญชี...บัตรเครดิต
การทำส่วนลดปิดบัญชีหรือการตัดยอดหนี้ (hair cut) นั้น หมายถึงการพูดคุยตกลงกันเพื่อลดยอดหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งโดยมากมักเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอมา เช่น เป็นหนี้รวมทั้งต้นและดอกเบี้ยแล้ว มียอดรวมอยู่ที่ 200,000 บาท เจ้าหนี้อาจจะเสนอมาว่าจะยอมลดหนี้ให้ 20% หมายความว่า ลูกหนี้ชำระแค่ 160,000 บาท ก็ถือว่าหนี้ที่มีเป็นอันสิ้นสุดกัน ฟังดูคล้าย ๆ กับการประนอมหนี้ใช่ไหมครับ เพราะมีการลดยอดหนี้ให้เหมือนกัน แต่การทำส่วนลดปิดบัญชีหรือการตัดยอดหนี้ จะต้องเป็นการตั้งใจที่จะลดยอดหนี้ให้ลูกหนี้จริง ๆ ไม่ใช่การหมกเม็ดแก้ไขสัญญาหนี้เดิมที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยรวมเอาทั้งต้น และดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย แล้วทำทีเป็นยอมลดหนี้ให้นิดหน่อย (การประนอมหนี้) แต่เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้ว กลับทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบกว่าการไปขึ้นศาลแล้วยกเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้ ครับ
จะเห็นได้ว่าเรื่องของการตัดลดยอดหนี้นั้นมักจะเป็นกรณีของหนี้บัตรเครดิต เพราะหากลูกหนี้ตาย ก็จะกลายเป็นหนี้สูญจริงๆ ยกเว้นแต่ว่าลูกเมียได้รับทรัพย์มรดกจากผู้ตาย เจ้าหนี้ก็สามารถเรียกร้องให้ใช้หนี้คืนตามจำนวนทรัพย์สินมรดกแค่นั้นครับ หนี้บัตรเครดิตนั้นแทบจะไม่มีหลักประกันใดๆ เลย ที่สำคัญอายุความของคดีบัตรเครดิตแค่ 2 ปีเท่านั้นครับ ดังนั้นการทำส่วนลดปิดบัญชีหรือการตัดยอดหนี้นั้นเจ้าหนี้มักเป็นฝ่ายเสนอ มากกว่า ส่วนคุณจะทำหรือไม่ก็ขึ้นอยู่การพิจารณาเงื่อนไขสัญญาต่างๆ นะครับ
การปรับโครงสร้างหนี้...สินเชื่อทั่วไป
การปรับโครงสร้างหนี้นั้นมักจะเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันของเจ้าหนี้และ ลูกหนี้ที่มีสินเชื่อในระบบทั่วๆ ไป โดยตามหลักการนั้นนะครับ การปรับโครงสร้างหนี้มีไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ที่ไม่สามารถ ปฏิบัติตามสัญญาที่กำหนดเงื่อนไขไว้ได้ตลอดสัญญากับสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินต้องมีการทำบันทึกทำความเข้าใจ ว่าในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งนั้นต้องมีวิธีการอย่างไร เช่นมีมาตรฐานการวิเคราะห์งบการเงินอย่างไร ห้ามปล่อยสินเชื่อใหม่ไปชำระหนี้เดิม ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย เป็นต้น ส่วนวิธีการของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดต้น ลดดอก ขยายระยะเวลาชำระหนี้ เปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว เป็นต้น โดยสามารถจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกันก็ได้
อย่ารวมหนี้หลายแบบ...ในการปรับโครงสร้างหนี้
คุณผู้อ่านที่เป็นหนี้ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อทั่วไป ต้องระมัดระวังในการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ประเภทที่ว่านำหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อมารวมกัน กลายเป็นสัญญาฉบับใหม่ ตอนทำสัญญาก็ยังจ่ายไหว แต่หากหลังจากนั้นเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว เจ้าหนี้ก็จะใช้สัญญาฉบับใหม่ในการส่งฟ้อง (การฟ้องจะไม่ใช้สัญญาเก่าของหนี้แต่ละตัว) ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่มีข้อต่อสู้ในเรื่องดอกเบี้ยโหด และทำได้เพียงยื่นคำให้การต่อสู้เพื่อขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป แล้วพอศาลนัดครั้งที่ 2 ก็จะต้องไกล่เกลี่ย แต่ยอดหนี้ก็ไม่สามารถลดลงได้ เนื่องจากเจ้าหนี้ทำสัญญาใหม่ดอกเบี้ยต่ำ ลูกหนี้จะหมดข้อต่อสู้ในเรื่องดอกเบี้ยครับ
ผู้รู้ทางการเงินการธนาคารแนะไว้นะครับว่า หากคุณผู้อ่านไม่มีเงินชำระหนี้ และมีหนี้หลายแบบ ก็ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ แต่หากคุณผู้อ่านคิดจะปรับโครงสร้างหนี้ก็ควรจะปรับหนี้เฉพาะแต่ละตัวไป แต่เนื่องจากธนาคารหรือสถาบันการเงินปัจจุบันมักจะมีทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อ เวลาเสนอปรับโครงสร้างหนี้ก็จะนำมารวมกัน แล้วเสนอให้ลูกหนี้เห็นว่าคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะมีการซ่อนค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการในดอกเบี้ยและระยะเวลาของการชำระหนี้ไว้เรียบร้อยแล้วครับ
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา