การร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน & การขอลี้ภัย

week2 content1

อะไรคือ...ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

                        ต้องปูพื้นฐานอธิบายเปรียบเทียบกันง่ายๆ ไปเลยนะครับว่าการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็เหมือนกับว่า วันดีคืนดีญาติห่างๆ ของคุณคนหนึ่งไปทำผู้หญิงท้อง แล้วหลบหนีการแต่งงานเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านของคุณ ในขณะที่ญาติฝ่ายผู้หญิงสืบได้ว่าฝ่ายชายอยู่ที่บ้านคุณ เขาก็เลยอยากให้คุณส่งตัวไอ้หนุ่มคนนี้ไปแต่งงานแต่งการหรือไม่ก็ตกลงให้เรียบร้อย เมื่อเทียบแล้วก็คือ การ ส่งมอบตัวผู้ต้องหาหรือส่งมอบตัวบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษแล้ว ไปยังประเทศซึ่งผู้นั้นถูกต้องหาว่าได้กระทำผิดทางอาญา หรือถูกพิพากษาให้ลงโทษทางอาญาแล้วในดินแดนของประเทศที่ขอให้ส่งตัวจาก ประเทศซึ่งบุคคลนั้นไปปรากฏตัวอยู่  

ทำไมต้อง...ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

                        โดยทั่วไปแล้วนะครับ เมื่อประเทศหนึ่งร้องขอให้อีกประเทศหนึ่งส่งตัวผู้ร้ายซึ่งหลบหนีเข้าไปอยู่ในประเทศนั้นให้แก่ประเทศที่ร้องขอแล้ว ประเทศที่รับคำขอก็มักจะส่งตัวให้ตามคำขอ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา เพื่อพยายามให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญาและอาชญากรรมต่าง ๆ นอกจากนี้เพื่อตอบสนองหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาทั่วโลกที่ว่า ผู้กระทำผิดอาญาจะต้องได้รับโทษ เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่สำคัญเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดอาศัยการหลบหนีไปอีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทำความผิดในประเทศหนึ่งก็หลบหนีเข้าไปอีกประเทศหนึ่งได้อย่างสบาย ใจเฉิบ...สรุปก็คือว่าการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็เพื่อไม่ให้คนชั่วลอย นวลและป้องกันไม่ให้ใช้การหลบหนีไปประเทศอื่นเป็นช่องทางในการหลบหนีการ กระทำความผิดนั่นแหละครับ

วิธีการของ...การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ในอดีตนั้น แต่ละประเทศก็ถืออำนาจอธิปไตยของตนเป็นใหญ่ในการพิจารณาปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประเทศที่ถูกร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้าย ถือว่าเป็นเอกสิทธิของตนในการที่จะใช้ดุลยพินิจอนุญาตตามคำร้องขอนั้นหรือไม่ และในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศต่าง ๆ มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจยึดถือและปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ระหว่างกัน ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องพิจารณาในชั้นแรกเสียก่อน ว่า ประเทศทั้งสองมีสนธิสัญญาต่อกันในเรื่องนี้หรือไม่ และกฎหมายภายในของประเทศที่ถูกขอให้ส่งผู้ร้ายมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร แล้วจึงพิจารณาเรื่องการใช้เอกสิทธิในเรื่องนี้ของประเทศนั้นเป็นประการสุดท้ายครับ

หลักเกณฑ์สากล...การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

                        แม้ว่าในการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนประเทศที่รับคำขอก็มักจะส่งตัวให้ตาม คำขอ แต่ตามหลักกฎหมายสากลเขาก็มีหลักเกณฑ์ของการให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนคือ 1) บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว เป็นผู้กระทำผิดทางอาญา 2) ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ 3) บุคคลที่ขอให้ส่งตัวเป็นพลเมืองของประเทศที่ร้องขอ 4) ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวได้กระทำไปนั้นต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาทั้งสองประเทศ 5) ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6) บุคคลผู้ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศที่ถูกร้องขอให้ส่งตัว 7) ประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุ เป็นผู้ดำเนินการร้องขอให้ส่งตัวโดยปฏิบัติตามพิธีการต่าง ๆ ดังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา 8) ผู้ที่ถูกส่งตัวไปนั้น จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ระบุมาในคำขอให้ส่งตัวหรืออย่างน้อยที่สุดจะ ต้องเป็นความผิดที่มีระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างกัน 9) ต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง เพราะมีหลักห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง

                        เงื่อนไขข้อสุดท้ายนี่แหละครับที่บางคนเห็นว่าอาจจะเป็นเงื่อนไขตามหลักสากล ที่ทางการอังกฤษอาจจะไม่ส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณกลับมาขึ้นศาลไทย แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้นฉันใด สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประเทศอังกฤษซึ่งต้องพิจารณาจากพยาน หลักฐาน ว่าจะส่งตัวบุคคลดังกล่าวกลับคืนให้กับประเทศผู้ร้องขอหรือไม่ครับ

กรณีไทย-อังกฤษ

                        ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายของไทยแล้ว เรามีกรอบการดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหลักที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับครับ คือ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 และสนธิสัญญาทวิภาคีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเรามีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอังกฤษ เบลเยียม สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลีใต้ ลาว บังกลาเทศ กัมพูชา ฟิจิ มาเลเซีย แคนาดา และออสเตรเลียครับผม

กรณีความร่วมมือระหว่างไทยกับอังกฤษนั้นมีข้อผูกพันระหว่างกันภายใต้ประกาศ สัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ค.ศ. 1911 ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการย่อๆ คือ อัยการและส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจนถึงขั้นออกหมายจับ หลังจากนั้น อัยการจะพิจารณาว่าจะดำเนินการในกรอบของการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ หากจะดำเนินการเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอัยการจะเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและจัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านช่องทางการทูต โดยอัยการจะส่งข้อมูลมาให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งต่อให้ทางการอังกฤษต่อไป

ขั้นตอนของ...อังกฤษ

เมื่ออังกฤษรับคำร้องขอจากไทยแล้ว ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของอังกฤษจะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ อาทิ เงื่อนไขในการดำเนินการส่งตัวกลับ โดยเกณฑ์สำคัญ คือ เป็นผู้ร้ายในคดีอาญาที่มีฐานความผิดสอดคล้องกับกฎหมายของอังกฤษด้วยหรือไม่ ? หรือเป็นคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการเมืองหรือไม่ ? ซึ่งหากศาลอังกฤษพิจารณาเห็นว่าสมควรส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะต้องส่งเรื่องไปยัง "สภาสูง" ของอังกฤษ เพื่อพิจารณาว่า จะให้ส่งตัวหรือไม่ และถ้าสภาสูงของอังกฤษเห็นชอบให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะต้องเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลอังกฤษ โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ จะเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้าย หรือถ้าเขาเกรงว่าหากส่งตัวกลับประเทศที่ร้องขอตัวมา อาจจะเกิดผลกระทบทางการเมือง เช่น ถูกเพ่งเล็งว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกลายไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเขาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็อาจจะพิจารณาส่งตัวไปยังประเทศที่สาม คือ ประเทศที่ไม่ใช่ผู้ร้องขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็เป็นได้ครับ

กรณีปิ่น จักกะพากไทย-อังกฤษ

เรื่องของการร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย-อังกฤษที่ฮือฮาคึกโครมก็คือกรณี นายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ที่สุดท้ายทางการอังกฤษตัดสิน ไม่ส่งตัวนายปิ่นให้กลับมาดำเนินคดีในไทย เพราะมีคำพิพากษาของศาลอังกฤษซึ่งเป็นที่สิ้นสุด ได้พิจารณาสำนวนการดำเนินคดีฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ของนายปิ่นที่ไทยส่งไป ให้แล้วว่า การกระทำของนายปิ่นไม่ถือว่าเป็นความผิด และพยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดกับนายปิ่นได้ จึงไม่ดำเนินการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามประกาศสัญญา เห็นไหมครับว่าต้องผิดกฎหมายบ้านเขาด้วยนะครับ อย่างไรก็ตามหากนายปิ่นย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศอังกฤษไปพำนักที่ประเทศอื่น อัยการของประเทศเราก็สามารถประสานความร่วมมือกับประเทศนั้นขอให้พิจารณาส่ง ตัวนายปิ่นกลับมาดำเนินคดีอีกตั้งก็ได้นะครับ

กรณีราเกซ สักเสนาไทย-แคนาดา

ส่วนกรณีของนายราเกซ สักเสนา ที่อัยการได้ประสานขอความร่วมมือให้ประเทศแคนาดาส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งหมดอายุความแล้ว และความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์ โดยคดียังเหลืออายุความอีก 3 ปีนั้น ที่ผ่านมาศาลฎีกาประเทศแคนาดามีคำสั่งเป็นที่สุดตามความเห็น รมว.ยุติธรรมแคนาดาให้ส่งตัวกลับ แต่นายราเกซใช้เทคนิคทางกฎหมาย อ้างเหตุที่ประเทศไทยขณะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญว่า ว่าหากถูกส่งกลับมาจะไม่ได้รับความปลอดภัย โดยได้ยื่นคำร้องต่อ รมว.ยุติธรรมแคนาดา เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการพิจารณาต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้นายราเกซ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ 2 ครั้ง ปัจจุบันเหลืออายุความที่จะเอาผิดนายราเกซได้เพียง 3 ปี อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าการพิจารณาครั้งนี้ ทางการแคนาดาจะใช้เวลาไม่นาน และน่าจะทันอายุความครับ

การขอลี้ภัย...ที่อังกฤษ

ในเรื่องนี้ หลายคนก็สงสัยกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีท่านจะขอลี้ภัยที่อังกฤษไหม ผมก็ไม่สามารถตอบได้ครับ แต่ที่แน่ๆ คือรัฐบาลอังกฤษเขายึดถือเรื่องการรับผู้ลี้ภัยจากต่างแดนตามหลักการที่ระบุ ไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ พ.ศ. 2494 ที่ว่าคนที่จะถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยได้คือคนที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน เองและไม่สามารถเดินทางกลับไปได้ โดยที่บุคคลนั้นมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า ถ้าเดินทางกลับไปแล้ว ตนเองจะถูกกระทำทารุณหรือถูกก่อกรรมทำเข็ญด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองหรือด้วยการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมต่าง ๆ ครับ

 

 

 

 

Back

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา