สาระสำคัญ...ของการคุ้มครอง
พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 มีจุดประสงค์สำคัญคือให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากจำนวนมากในสถาบันการเงิน (มีถึงร้อยละ 98 เลยนะครับ) ให้ได้รับเงินคืนเมื่อสถาบันการเงิน (ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก) ปิดกิจการหรือไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนเงินฝาก โดยกำหนดจำนวนเงินคุ้มครองที่ผู้ฝากจะได้รับคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากไว้ ชัดเจน เพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกของผู้ฝากไม่ให้พากันถอนเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินที่มีจำนวนเงินฝากอยู่ภายในวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองก็ จะมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างแน่นอน
เงินฝากประเภทไหน...ที่คุ้มครอง
เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นี้คือ เงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงินที่นำมาคำนวณยอดเงินฝากถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้นจนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิก ถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินครับ และเงินฝากนี้ก็ต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท และเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ โดยไม่ใช่เงินฝากของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินฝากนะครับ
แค่ไหน เท่าไหร่...ที่คุ้มครอง
ส่วนจำนวนเงินฝากที่คุ้มครองต่อบัญชีคือถ้าอยู่ในห้วงเวลาต่อไปนี้แล้วสถาบันการเงินล้ม ก็จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากดังนี้ครับ 1) ในห้วงเวลา 11 ส.ค.2551 –10 ส.ค.2552 คุ้มครองเต็มจำนวน 2) ในห้วงเวลา 11 ส.ค. 2552 –10 ส.ค. 2553 คุ้มครองไม่เกิน 100 ล้านบาท 3) ในห้วงเวลา 11 ส.ค.2553 –10 ส.ค.2554 คุ้มครองไม่เกิน 50 ล้านบาท 4) ในห้วงเวลา 11 ส.ค.2554 –10 ส.ค.2555 คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 5) ในห้วงเวลา 11 ส.ค.2555 เป็นต้นไป คุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทขาดตัวครับผม แต่ก็ใช่ว่าส่วนที่คุณฝากเกิน 1 ล้านบาท เขาจะแทงสูญนะครับ เพียงแต่ว่าคุณสามารถขอเฉลี่ยคืนจากทรัพย์สินของสถาบันการเงินตามกระบวนการชำระบัญชี นั่นก็แปลว่าสถาบันการเงินจะกลายเป็นลูกหนี้คุณในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทนั่นแหละครับ
ถ้าบัญชีเดียว...หลายชื่อ
สำหรับคนที่เป็นสามีภรรยาหรือคู่รักกันแล้วพากันไปเปิดบัญชีใช้ชื่อร่วมกัน หากเกิดปัญหาสถาบันการเงินที่คุณไปฝากเงินปิดกิจการหรือมีปัญหาในการใช้เงินคืน ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่าภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก สามี กับภรรยา ไม่ถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน จึงได้รับการคุ้มครองเงินฝากทั้งสองคน โดยหากไม่มีการกำหนดสัดส่วนการคุ้มครองตั้งแต่ต้นว่าหากสถาบันการเงินมีปัญหาจะแบ่งสัดส่วนการคุ้มครองกันเท่าไร ให้ถือว่าแบ่งกันคนละครึ่ง เช่น สามีภรรยาเปิดบัญชีเดียวโดยใช้ชื่อร่วมกัน แล้วมีบัญชีเงินฝากอยู่ 200,000 บาท หากสถาบันการเงินนั้นถูกปิด จะได้รับการคุ้มครองทั้งสามีและภรรยา โดย สามีจะได้การคุ้มครอง 100,000 บาท และภรรยาได้รับการคุ้มครอง 100,000 บาท รวมทั้งกรณีเปิดบัญชีร่วม 3 คน ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ ถ้าไม่มีการกำหนดสัดส่วนแบ่งการคุ้มครองไว้ให้ ก็ให้แบ่งการคุ้มครองเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กันครับ
ดีต่อรายย่อย...กระทบเศรษฐี
ผมยอมรับเลยนะครับว่า ทันทีที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ก็ทำให้คนที่มีเงินฝากจำนวนมากๆ เริ่มคิดถึงผลกระทบของการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินว่าน่าจะมีความเสี่ยง เพิ่มขึ้น ทำให้บางคนไม่กล้าที่จะนำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร โดยเฉพาะหลังจากปีที่ 5 เป็นต้นไปที่คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ผู้รู้เขาแนะนำมาครับว่าผู้ที่มีเงินเกินกว่า 1 ล้านบาทก็ต้องวางแผนทางการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรกับเงินที่มีอยู่ จะแบ่งไปฝากหลายๆสถาบันการเงินหรือจะนำไปลงทุน เช่น ลงทุนในกองทุน หรือตราสารอื่นๆ หรือถ้าต้องการความมั่นคง ก็อาจลงทุนซื้อที่ดิน บ้าน คอนโดมีเนียม ฯลฯ เอาเป็นว่าคุณเศรษฐีทั้งหลายคงต้องศึกษากันให้ดีเพื่อเป็นการป้องกันความ เสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเงินของคุณครับ
พิจารณาสถานภาพ...ธนาคาร
วิธีการพิจารณาเพื่อป้องกันความเสี่ยงง่ายๆก็คือ ลองพิจารณาดูว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินที่คุณฝากเงินเข้มแข็ง มีเสถียรภาพหรือเปล่า (พิจารณาจากข่าวสารทั่วไปเนี่ยแหละครับ) นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินการธนาคารเขายังกระซิบบอกมาว่าคุณต้องใช้ วิธีการพิจารณางบการเงินเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจนั่นก็คือ
1) ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินแห่งนั้น หากมี NPL สูง เมื่อเทียบกับตัวเลข NPL ทั้งระบบ (ปัจจุบันอยู่ที่ 6-7%) ให้ถือว่าสถาบันการเงินนั้นอาจมีความเสี่ยง
2) เมื่อเห็น NPL แล้วสิ่งที่ต้องดูควบคู่กันด้วย คือ ตัวเลขการกันสำรองเผื่อหนี้เสีย
3) สุดท้ายที่ควรรู้ ตัวเลขเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ซึ่งตามกฎหมายกำหนดต้องมี BIS ratio ไม่ต่ำกว่า 8.5% (ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 9-10 %)
คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าตัวเลขยุ่งยากของงบการเงินแบบนี้ เขาจะยอมให้เราดูเหรอ? บอกได้เลยนะครับว่าข้อมูลพวกนี้เป็นตัวเลขที่สถาบันการเงินทุกแห่งต้องเปิดเผยอยู่แล้ว โดยเขาติดประกาศอยู่ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ และในเว็บไซต์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เรียกว่าต้องประกาศตัวเพื่อความโปร่งใสอย่างเต็มที่นั่นแหละครับ
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา