เวลาพัก วันหยุด และพักร้อนของมนุษย์เงินเดือน

week3 content1

เวลาพัก…ในแต่ละวัน

ร้อนๆ แบบนี้ถ้าทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้พักเลยรับรองมีคนเป็นบ้าแน่ครับ กฎหมายดูแลตั้งแต่เวลาพักในแต่ละวันเลยว่าในแต่ละวันที่มีการทำงาน ต้องให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อเสร็จสรรพรวบรวมกันหมดแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาพักระหว่างการทำงานเป็นอย่างอื่น ถ้าข้อตกลงนั้นเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างให้ข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้ เช่นอาจจะให้งีบหลับได้ในเวลาบ่ายๆ เหมือนลูกจ้างในบริษัทของบางประเทศในยุโรป ที่เขาเห็นว่าการได้งีบหลับนิดหน่อยในช่วงบ่าย จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น (สำนักเขตบางแห่งของกรุงเทพฯ ก็นำแนวคิดนี้มาใช้ โดยให้เจ้าหน้าที่งีบหลับประมาณ 15 นาทีก่อนบ่ายโมง แต่ไม่ใช่เวลาทำงานนะครับ เป็นกิจกรรมร่วมกันในเวลาหลังพักกลางวันเท่านั้น…คือเราคนไทยหน่ะครับ ไม่ใช่คนยุโรปที่เขามีธรรมเนียมงีบหลับในเวลากลางวัน) อย่างไรก็ตามเวลาพักระหว่างการทำงานเช่นนี้เขาไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เวลาพักที่รวมกันแล้วในวันหนึ่งเกิน 2 ชั่วโมง ให้นับเวลาที่เกิน 2 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาทำงานปกตินะครับผม

ทำงานล่วงเวลา…หลังเวลางาน

แหมบางทีบริษัทฯ อยู่ในช่วงขาขึ้น ก็เลยมีงานเยอะหน่อย สำหรับวันที่มีงานเร่งด่วนหรืองานนอกเวลา กฎหมายกำหนดว่าก่อนทำงานล่วงเวลา ซึ่งต่อเนื่องจากเวลางานปกติ ลูกจ้างต้องได้พักก่อน 20 นาทีครับ (จะไปทานข้าว คุยโทรศัพท์กับคนในครอบครัว หรืออะไรก็ได้) แปลว่าถ้าเลิกงานปกติ 5 โมงเย็น จะสามารถเริ่มทำงานล่วงเวลาได้ก็ต่อเมื่อเวลา 5 โมง 20 นาทีนะครับคุณเจ้านาย ซึ่งในเรื่องเวลาพักนี้ถ้านายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกปรับ 20,000 บาทขาดตัวครับ

ส่วนค่าจ้างล่วงเวลาในวันทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานปกติครับ ถ้าจ่ายน้อยกว่านี้ก็โทษแรงเลยนะครับคือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

วันหยุด…มีทุกสัปดาห์

เมื่อทำงานแต่ละสัปดาห์ก็ต้องมีวันหยุดครับ เพราะคงไม่มีใครสามารถทำงานได้ติดต่อกันโดยไม่มีวันหยุด (ยกเว้นคนที่เป็นซุเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์หรือละคร) ดังนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าในแต่ละสัปดาห์นั้นเจ้านายทั้งหลายต้องให้ลูกน้องได้พักอย่างน้อย 1 วันโดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน (แปลว่าทำงานอย่างมากที่สุด 6 วันต่อสัปดาห์ วันที่ 7 ต้องพักครับ) โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันเสาร์ หรืออาทิตย์เหมือนงานราชการก็ได้

ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นที่มีลักษณะทำงานต่อเนื่อง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องทำงานติดต่อกันไม่เกิน 4 สัปดาห์ คืออย่างไรเสียมนุษย์ต้องพักผ่อนนั่นแหละครับ ซึ่งที่สุดของร่างกายคนเรานั้นก็ไม่ควรทำงานติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ครับ เพราะอาจมีปัญหาต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ฯลฯ โดยเฉพาะแรงงานสาวๆ หนุ่มๆ ที่คบกับแฟน ปรากฏว่าทำงานเก็บเงินเพลินๆ กลับมาอีกที เธอหรือเขามีคนใหม่ไปแล้ว…ไม่คุ้มเลยนะครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้แฟนหากันยากอยู่ ไม่ได้ซื้อหากันได้ง่ายๆ จากตลาดสด ตลาดนัด หรือซูเปอร์มาร์เกต (ฮา)

วันหยุดตามประเพณี…ไม่น้อยกว่า 13 วัน

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้นห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี (กำหนดให้นายจ้างประกาศไว้รวมวันแรงงานแห่งชาติด้วยแล้วต้องไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี) ซึ่งหากนายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามนี้ คือกำหนดวันหยุดตามประเพณี ที่รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้วก็ยังน้อยกว่า 13 วันต่อปี มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทครับ

 

 

ทำงานวันหยุดตามประเพณีต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม

ส่วนนายจ้างท่านใดต้องการให้ลูกน้องเร่งทำงาน (แม้ในวันหยุดตามประเพณีหรือวันแรงงานแห่งชาติ) เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่มีความต่อเนื่อง ติดพัน ฯลฯ กฎหมายให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือ นายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้ครับ

โดยหากทั้งลูกจ้างและนายจ้างตกลงในเงื่อนไขจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีเงื่อนไขหรืออัตราตามกฎหมายคือ หากเป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างทำงานในวันหยุดอยู่แล้ว นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้าง และสำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างปกติครับ สำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืนในเรื่องนี้โทษแรงนะครับ คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

สิทธิในลาพักร้อน...ต้องทำงาน 1 ปีขึ้นไป

บางคนอาจจะบอกว่า “อ.ประมาณขา แหมสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าหนูลาพักร้อนเจ้านายก็เพ่งเล็งสิคะ เดี๋ยวพาลจะให้ลถูกออกจากงาน...” มิได้ครับสิทธิการลาพักร้อนเป็นสิทธิตามกฎหมาย ไม่สามารถใช้อ้างเพื่อเป็นเหตุผลให้คุณออกจากงาน แต่การใช้สิทธิก็ต้องอยู่ในขอบเขตตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 ซึ่งกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี อันหมายถึงวันลาพักร้อนว่า

ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ นอกจากนี้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

 

นายจ้างมีเล่ห์...ต่อสัญญาทุก 3 เดือน

ผมเคยได้ยินมาว่าบางบริษัทฯ เจ้านายมีเล่ห์เหลี่ยมต้องการหลบเลี่ยงไม่ยอมให้ลูกน้องได้มีโอกาสลาพักร้อนตามสิทธิทางกฎหมาย โดยให้ทำสัญญาจ้างทุกสามเดือน แต่ทำงานติดต่อกันมาแล้วเกิน 1 ปี อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน แบบนี้ถ้าไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ รับจ้างทำงานช่วง รับทำของ แถมทำงานติดต่อกันเกิน 1 ปี อย่างนี้ลูกจ้างมีสิทธิพักร้อนตามกฎหมายเลยนะครับ ส่วนเจ้าของหรือฝ่ายบุคคลบริษัทฯ นั้นเล่นเล่ห์ทางกฎหมายไม่ยอมให้เขาหยุดพักร้อน มีความผิดปรับไม่เกิน 20,000 บาทเลยนะครับ

อย่างไรก็ตามในส่วนของการกำหนดวันที่จะลาพักร้อนนั้น กฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย หรือนายจ้างเป็นคนกำหนดวันดังกล่าว แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบนะครับ

เคล็ดลับพักร้อน...ต้องห่างจากงาน(จริงๆ)

มีผลวิจัยของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งในประเทศอิสราเอลครับ เขาศึกษาวิจัยจากคนทำงานบริษัททั้งในสหรัฐ นิวซีแลนด์ และอิสราเอล พบว่าการจะแก้ปัญหาอาการหมดแรง หมดไฟจากการทำงานให้ได้ผลนั้น มิใช่การหยุดเป็นระยะเวลายาวนาน แต่อยู่ที่ว่าคุณต้องอยู่ห่างจากงานได้อย่างจริงจังมากกว่า (แม้ว่าคุณจะลาพักร้อนได้ไม่กี่วัน) แปลว่าคนที่มีวันลาพักร้อนแต่เอาโทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊กให้เจ้านายโทรฯ ตาม หรือให้เพื่อนร่วมงานส่ง E-mail สอบถามพูดคุยเรื่องงาน ไม่มีทางได้พักผ่อนจริงๆ ครับ ดังนั้นปิดมือถือ ใช้ชีวิตวันพักผ่อนไปเลยครับ แต่ที่แน่ๆ คุณต้องเคลียร์งานเร่งด่วนให้หมดก่อนวันลาพักร้อนนะครับ (เดี๋ยวเขาด่าคุณพ่อคุณแม่ตามหลัง) ส่วนงานอื่นๆ ที่ไม่เร่งด่วน แต่คั่งค้างอยู่ก็อย่าหอบไปเที่ยวด้วยโดยเด็ดขาด (ขอร้อง) เอาไว้กลับมาค่อยจัดการครับ

 

 

 

Back

SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา