สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เชิญชมปรากฎการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า สดร. ขอเชิญชมปรากฎการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 9 พฤษภาคม โดยดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ถือว่าอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี
ช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม เวลาประมาณ 07.10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
โดนในวันที่ 9 พฤษภาคม ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่งตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนและจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า “ดวงจันทร์ของกาลิเลียน” คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต
รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีด้วย แต่หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจน โดยคืนวันที่ 9 พฤษภาคม จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 – 20.00 น. แล้วจะปรากฏอีกครั้งในเวลาประมาณ 02.00 – 06.00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม
ทั้งนี้นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวย้ำว่า ตามปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561 และครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ขนาดปรากฏของดาวพฤหัสบดีช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปาจะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดีเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ช่วงเวลาประมาณ 18.20 – 20.36 น. จึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างมาก ถือเป็นโอกาสดีที่เยาวชนและประชาชนจะเรียนรู้ดาราศาสตร์นอกห้องเรียน
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา