‘คลองโองอ่าง’ กับการปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ตามยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย พร้อมเสียงสะท้อนจากชาวบ้านริมคลองโอ่งอ่าง หลังการปรับปรุงภูมิทัศน์
‘แม่น้ำลำคลอง‘ ถือเป็นส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตร การระบาย การนำมาใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นเส้นทางในการสัญจรทางน้ำจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ความเจริญก็ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาเช่นกัน
กระทั่งในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งคนในสังคมหันกลับมามองเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในจุดที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมหันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าศัตรูสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ก็คือ ‘มนุษย์‘
เฉกเช่นเดียวกับที่ ‘คลองโอ่งอ่าง‘ หรือหากใครยังนึกภาพไม่ออกต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2558) หากพูดถึง ‘สะพานเหล็ก‘ คงเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของเหล่าคอเกม รวมถึงนักสะสมของเล่นต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมของเล่นทั้งเด็กจนไปถึงผู้ใหญ่เลยทีเดียว
‘คลองโอ่งอ่าง’ กับประวัติศาสตร์อันยาวนาน
‘คลองโอ่งอ่าง‘ คือส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ต่อจากคลองบางลำพู ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ปลายคลองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดบพิตรพิมุข เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง และขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไปนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 ตรงกับปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช 1144 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม
โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นระยะทาง 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3.426 กิโลเมตร)
กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) ลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) ในการครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการ เลียบแนวคลองด้านใน ตลอดทั้งคลอง ประตูเมืองและป้อมปราการเว้นระยะห่างกันเป็นช่วงๆ ถึง 9 ช่วง เป็นคลองคูเมืองชั้นนอก
คลองโอ่งอ่างหลังการปรับปรุงภูมิทัศน์
เมื่อขุดคลองแล้วพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง
คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ ส่วนที่เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดสังเวชวิทยาราม จนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรงช่วงปากคลองมหานาคนิยมเรียกว่า “คลองบางลำพู” เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลองสะพานหัน” เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน
การที่เรียกชื่อแตกต่างกัน มีมาตั้งแต่สมัยไหนนั้นไม่สามารถค้นหลักฐานได้ จากหนังสือเก่าซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเรียกชื่อคลองโอ่งอ่างกับคลองบางลำพูแล้ว เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า “คลองรอบกรุง” ตลอดทั้งสาย
ความเป็นมาของ ‘สะพานเหล็ก’ แหล่งเศรษฐกิจที่เคยอยู่บริเวณคลองโอ่งอ่าง
‘สะพานเหล็ก’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “สะพานดำรงสถิต” เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง บริเวณคลองโอ่งอ่าง ของกรุงเทพมหานคร บนถนนเจริญกรุง ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
โดยบริเวณเชิงสะพานเหล็กหากย้อนยุคแรกๆ เดิมบริเวณดังกล่าวมีเพียงผู้ค้าปลาสวยงานและร้านอาหารไม่กี่ร้าน จากนั้นผู้ค้าจากคลองถมได้เข้ามาสมทบ จนกลายเป็นแหล่งค้าขายสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ วิดีโอเกม โมเดลตุ๊กตา เครื่องใช้ไฟฟ้า ซีดี จึงกลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่ออย่างมาก
ปิดตำนานกว่า 40 ปี ‘สะพานเหล็ก’ ก่อนมีการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง
ในช่วงตุลาคม พ.ศ. 2558 ทางสำนักงานกรุงเทพมหานคร โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่างๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี โดยคลองโอ่งอ่างที่เคยกว้างประมาณ 7-8 เมตร ได้ถูกกลุ่มผู้ค้าเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ ได้รุกล้ำลำคลอง-ก่อสร้างอาคารในพื้นที่ จนเหลือความกว้างเพียง 1 เมตร ส่งผลต่อปัญหาการระบายน้ำและปัญหาอาชญากรรม
โดยทางสำหนักงานกรุงเทพมหานครได้ทำการปรับภูมิทัศน์ ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้า และมีความสวยงามทางศิลปะเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับ ‘คลองช็องกเยช็อน’ ในประเทศเกาหลีใต้
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์บริเวณคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่สะพานโอสถานนท์ ถึงสะพานดำรงสถิต ความยาว 750 เมตร รวม 2 ฝั่ง ความยาว 1,500 เมตร
เมื่อแล้วเสร็จจากทางเดินริมคลองจะสามารถมองเห็นสะพานข้ามคลอง ที่เรียงกัน 5 สะพาน คือ สะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรพิมุข และสะพานโอสถานนท์ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า อันเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์
นอกจากนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง ได้แก่ สะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข และสะพานโอสถานนท์ รวมทั้งได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่มเติม จำนวน 46 ตัว เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน ตลอดจนการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่างให้มีความสะอาดสวยงามและร่มรื่น
รวมทั้งดำเนินการขุดลอกคลองช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานภานุพันธ์ จากเดิมความลึกของคลองอยู่ที่ระดับ -1.50 ม.รทก. (เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง) โดยขุดลอกคลองในระดับความลึก -3.40 ม.รทก. (เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง)
เสียงจากชาวบ้านริมคลองโอ่งอ่าง หลังการปรับภูมิทัศน์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น??
น.ส.ยุพา ยงสกุลจินดา อายุ 72 ปี เจ้าของร้านปึง ฮั่ว เฮียง ร้านจำหน่ายหมูแผ่น หมูหยอง ฯลฯ ซึ่งอาศัยอยู่ริมคลองโอ่งอ่างมานานกว่า 70 ปี เปิดเผยว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่างในครั้งนี้ มองว่าเป็นการพัฒนาและฟื้นฟูคลองให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งคิดว่าดีกว่าในอดีตอย่างมาก มีการจัดการที่เป็นระเบียบมากขึ้น ทั้งนี้มองว่าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้ง 5 สะพาน ‘คลองโอ่งอ่าง’ จะกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯอย่างแน่นอน
‘ในฐานะชาวบ้านที่อาศัยริมคลอง อยากฝากถึงอีกหลายๆชุมชนที่อยู่อาศัยริมคลองต่างๆ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูถิ่นบ้านเกิด เพราะการจะรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องเริ่มที่ตัวของเราเองดีที่สุด’ น.ส.ยุพา ยงสกุลจินดา กล่าวทิ้งท้าย
น.ส.ยุพา ยงสกุลจินดา
นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านริมคลองโอ่งอ่างบางส่วน ซึ่งเป็นทั้งผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน มองว่าในส่วนของการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ดูเป็นระเบียบมากขึ้น แต่ผลกระทบที่ตามก็คือลูกค้าลดน้อยลงอย่างมาก
หากเทียบกับก่อนการรื้อสะพานเหล็ก แต่หากจะให้ย้ายไปจุดที่ทางกรุงเทพฯจัดระเบียบไว้ให้ ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในจุดดังกล่าว หากย้ายไปก็ต้องไปหาลูกค้าใหม่อีก
อย่างไรก็ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ตั้งแต่สะพานดำรงสถิตถึงสะพานภานุพันธ์ ความยาว 250 เมตร รวม 2 ฝั่ง ความยาว 500 เมตร จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ สำหรับการก่อสร้างในส่วนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มี.ค.62
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา