ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ (13 พ.ย. 2563) ที่ผ่านมา ‘นายวิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นท้องที่เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 หลังจากที่ สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมรองรับเป็นที่พื้นที่นำร่องครบทุกขั้นตอนแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อวาระพิจารณาดังกล่าว และมอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนลงนามในประกาศต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทย ในการลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับข้อเสนอ 6 ข้อขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และทางการวิจัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. ถอดกัญชาและยางกัญชาออกจากตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แต่ไปควบคุมอยู่ในตารางที่1 ของอนุสัญญา ฯดังกล่าวแทน
2. เพิ่มสารสังเคราะห์กัญชาโดรนาบิบอล (Dronabinol) และสเตอริโอไอโซเมอร์ (Stereoisomers) ทั้งหมดของโดรนาบินอลให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971
3. เพิ่มสารสกัดกัญชา THC หรือสารที่เป็นไอโซเมอร์กับโดรนาบินอล (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Delta-9-THC) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 และถอดออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1971
4. ถอดคำว่า “สารสกัดและทิงเจอร์ของกัญชา” (Extracts and Tinctures of Cannabis) ออกจากตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961
5. เพิ่มคำอธิบายในเชิงอรรถภายใต้ตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961 ว่าวัตถุตำรับหรือยาเตรียม (Preparation) ที่มี Cannabidiol (CBD) เป็นส่วนประกอบหลักหรือเรียกรวมว่า CBD Preparation ซึ่งมีความเข้มข้นของ Delta-9-THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961
6. เพิ่มตำรับยากัญชาและโดรนาบินอล (Pharmaceutical preparations of Cannabis and Dronabinol) ให้อยู่ภายใต้การควบคุมในตารางที่ 3 ของอนุสัญญาฯ ค.ศ.1961
โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอว่าประเทศไทยควรลงคะแนนรับข้อเสนอ 4 ข้อด้วยกัน คือ ข้อ 1, 2, 3 และ 5 แต่ไม่รับข้อเสนอในข้อ 4 และ 6 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบาย และกฎหมายภายในของประเทศไทยในเรื่องนี้
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอการลงคะแนนดังกล่าว และมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เป็นผู้แทนทางการไทยในการลงคะเเนนต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก ท่ีมีสิทธิลงคะแนนเสียงต่อข้อเสนอดังกล่าว ในการประชุมสมัยต่อเนื่องของคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 63 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. นี้ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย