กลายเป็นกระแสไม่ชอบมาพากล กับผลการตัดสิน Miss Universe 2015 ที่เกิดประเด็นร้อนฉ่า เกี่ยวกับการประกาศชื่อนางงามผู้คว้ามงกุฎผิด
ความผิดพลาดทั้งหมด คนส่วนใหญ่โยนไปตกอยู่ที่ Steve Harvey ดาวตลกชื่อดังชาวอเมริกัน ที่รับหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งถูกตราหน้าว่า ประกาศผลรางวัล Miss Universe ผิดพลาด ทั้งที่มงกุฎก็ไปสวมอยู่บนหัวของสาวงามจากโคลัมเบียแล้วแท้ ๆ พลันกระเด็นมาอยู่บนหัว Pia Alonzo Wurtzbach วัย 26 ปี สาวงามจากฟิลิปปินส์ซะอย่างนั้น
งานนี้เห็นทีว่าอาจจะ กลายเป็นเรื่องโอละพ่อขึ้นมา เมื่อนักสืบออนไลน์ แฟนนางงามไทย ไม่มองข้ามหลักฐานความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ
อย่างการซูมเข้าไปที่ซองผลตัดสินในการประกวดครั้งนี้ ในมือของพิธีกร ที่แทบจะชี้ชัดเลยว่า ในตอนแรก กองประกวด กำหนดผู้ชนะเป็นมิสโคลัมเบีย ในตำแหน่ง Miss Universe 2015 ไว้ตั้งแต่แรก บ้างก็แอบเห็นว่ามีกระดาษผลประกาศ ที่แอบเหมือนมีกระดาษมาปิดทับ และมีคำว่าโคลัมเบียจาง ๆ ซ่อนอยู่
กระแสในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งกระพือข่าวความไม่โปร่งใสในการตัดสิน แม้พิธีกรผู้ทำหน้าที่บนเวทีจะออกมายอมรับความผิดที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้ เดียวก็ตาม และยังไม่แน่ชัด ว่าภาพดังกล่าวถูกตัดต่อขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ขนาดนั้น
ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ผ่านการซักซ้อมมานับครั้งไม่ถ้วน และมีความเป็นมืออาชีพ ทั้งยังเป็นเวทีระดับโลก รวมถึงยังเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า ความผิดพลาดครั้งนี้ จะส่งกระทบต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และโคลัมเบียหรือไม่
เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น สร้างความอับอายให้ตัวแทนจากโคลัมเบียเอง เนื่องจากถูกมองว่าเป็นตัวตลก ทั้งมงกุฎยังปลิวจากหัวไปเสียดื้อ ๆ
นอกจากในเรื่องประเด็น ดราม่าเหล่านี้ แน่นอนว่าผู้ที่ติดตามการประกวด หรือแฟนนางงามจริง ๆ จะไม่มองเป็นเพียงแค่ความผิดพลาดแค่ผิวเผิน ของลิขสิทธิ์การประกวดอย่าง สหรัฐอเมริกา เจ้าของฉายา ‘พญาอินทรีย์’
ไม่ว่าการจัดงานการประกวดเวทีนี้ครั้งใด และผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็มักจะมีการผูกโยงกับเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทางการเมือง‘ อย่างมีนัยยะเสมอ ซึ่งการประกวดในปีนี้ มีความแคลงใจว่าเพราะเหตุใด ในรอบการตอบคำถาม
ถึงมีการหยิบยกเรื่องการเมืองเข้ามาพูดถึงเป็นประเด็นหลัก ? ซึ่งคนส่วนใหญ่ อาจจะมองว่ากองประกวด กำหนดคำถามที่หินเกินไป ในขณะที่แท้จริงแล้ว การกำหนดคำถามเช่นนี้ มีทิศทางที่สื่อถึงผลประโยชน์ระหว่างชาติอย่างเห็นได้ชัด ฟิลิปปินส์ ผู้ชนะการประกวด ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่า หากสหรัฐฯ เลือกให้ฟิลิปปินส์ชนะในครั้งนี้ สหรัฐฯ จะได้ผลประโยชน์ในข้อใด ซึ่งความเป็นไปได้ มีหลายสาเหตุดังนี้
1.ข้อสังเกตแรก ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีความตื่นตัวในเรื่องการประกวดเวทีความงามอย่างมาก ทั้งแฟนนางงาม ก็ทุ่มแรงกายโหวตให้ตัวแทนของตนเองมากมาย การเลือกให้ฟิลิปปินส์ ก้าวขึ้นมาเป็น Miss Universe ในปีนี้ อาจเป็นการกระตุ้น ปลุกกระแสการประกวดนางงามให้รุ่งเรืองอีกครั้ง
2.อีกปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้ แว่ว ๆ มาว่า ‘โดนัล ทรัมป์’ ผู้ลงสมัคร ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเดิมเป็นนักธุรกิจที่มีอิทธิพลมากอยู่แล้ว และที่สำคัญ คือเขาเคยเป็นอดีตเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวด Miss Universe อีกด้วย เมื่อจะไปขอสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศฟิลิปปินส์ จึงทำให้นางงามฟิลิปปินส์ เข้ารอบลึก ๆ บนเวที Miss Universe ติดต่อกันหลายปีก่อนหน้านี้ จนกระทั่งในปีนี้ ทรัมป์ ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ซึ่งมีผลประโยชน์ในด้านธุรกิจ จึงได้รับชัยชนะ บนเวที Miss Universe ในที่สุด
3.ข้อสุดท้าย สหรัฐฯ ต้องการนำกำลังทางทหาร ไปตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ จึงใช้ชัยชนะบนเวทีขาอ่อน เป็นใบเบิกทาง จากกรณีที่เมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา พล.อ.เกรกอริโอคาตาปัง ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของฟิลิปปินส์เปิดเผยผ่านสื่อต่างประเทศ กรณีที่สหรัฐฯได้ร้องขอการเข้าถึงฐานทัพฟิลิปปินส์กว่า 8 แห่งเพื่อสับเปลี่ยนกำลังทหาร เครื่องบิน และเรือตามแผนการปักหมุดเอเชีย เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนขยายแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้
ในข้อนี้มีน้ำหนักจากการ ตั้งคำถาม ว่า ‘คิดเห็นอย่างไร ถ้าสหรัฐจะไปตั้งฐานทัพในประเทศคุณ’ ซึ่งเมื่อถูกยิงคำถามเช่นนี้ นางงามฟิลิปปินส์ ตอบกลับมาว่า เธอยินดีอ้าแขนรับ พร้อมปูพรมแดงรอ
ส่วนชาวออนไลน์ก็เม้าส์แรงว่า มันไม่ใช่แค่คำถามบนเวที แต่มันเป็นเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เมื่อผู้ที่ทราบข้อมูลเหล่านี้เป็นอย่างดี เห็นว่า นางงามฟิลิปปินส์ตอบคำถามออกมาเช่นนั้น ก็เห็นว่าเธอพยายามทำทุกทาง เพื่อให้ได้ตำแหน่งมากระนั้นหรือ ?
ทั้งที่ประชาชนเป็นจำนวนมากในฟิลิปปินส์ ไม่ได้เห็นด้วยกับการรับทหารสหรัฐฯ ให้มาตั้งฐานทัพสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม ในอดีต ‘ฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกา’ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด จนมีการกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐ ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแก่ฟิลิปปินส์เป็นอันมาก รวมถึงมีข้อตกลง และสัญญาทางทหารระหว่างกันถึง 3 ฉบับ