รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอปิดอ่าวมาหยา ฟื้นแนวปะการัง หลังพบนักท่องเที่ยวล้นทะลักเกือบ 4 พันคน ต่อวัน
รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยา เกาะพีพี เพื่อฟื้นฟูปะการัง และให้ทะเลปรับสภาพ หลังพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทะลักเที่ยวสูงถึงวันละ 4,000 คน
โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า ช่วงนี้มีเรื่อง #ปิดมาหยา ผมลงไปพีพีแบบถี่ๆ ก็เกี่ยวกับประเด็นนี้ จึงอยากเขียนแบบจัดเต็มสักครั้ง ยาวหน่อยแต่ตอบทุกคำถาม #กี่คนต่อวัน #ปิดนานแค่ไหน #ระหว่างปิดทำอะไร #เปิดแล้วจะเจ๊งอีกไหม เริ่มจากลักษณะของหมู่เกาะพีพี เกาะที่นี่เป็นหินปูน หน้าผาตั้งชัน มีอ่าวเว้าลึกไปมาตามลักษณะของหลุมยุบในอดีต
แนวปะการังที่อยู่ข้างหน้าผาจะแคบมาก บางทีก็แทบไม่มีเลย ชายฝั่งจะตรงดิ่งชันสู่พื้นท้องทะเลที่ 10-20 เมตร พื้นที่แบบนี้ไม่ค่อยมีปัญหามาก เพราะมีแต่การดำน้ำแบบ SCUBA แนวปะการังอีกแบบอยู่ในอ่าวเว้าลึกไปมา แนวปะการังแบบนี้จะอยู่เต็มพื้นที่ ตรงปากอ่าวจะเป็นขอบแนวปะการัง ด้านในจะเป็นดงปะการังน้ำตื้นยาวเหยียดไปจนเกือบติดชายหาด อ่าวมาหยาเป็นแนวปะการังลักษณะนี้
ในอดีตเมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว ปะการังมีเพียบเต็มอ่าว ทั้งปะการังเขากวาง แผ่นตั้ง แผ่นนอน หรือแบบไหนก็มีทั้งนั้น แต่เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาและเข้ามา เรือวิ่งเข้าออกอ่าวมาหยาเป็นว่าเล่น บ้างก็ทิ้งสมอ ทำให้แนวปะการังเสียหายจนยับเยิน เมื่อเราเริ่มพีพีโมเดล มีการจัดเขตต่างๆ ในอ่าวมาหยาให้ชัดเจน มีทั้งจุดจอดเรือ จุดเล่นน้ำ เขตอนุรักษ์ปะการัง ฯลฯ
ซึ่งก็ลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ปริมาณเรือยังเข้ามาในอ่าวอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดคือวันละ 200 ลำหรือมากกว่า (ดูภาพแล้วจะเข้าใจ) เรือที่แล่นไปมาย่อมส่งผลกระทบ ทำให้ทรายฟุ้งกระจาย ปะการังใหม่ๆ ก็ลงเกาะไม่ได้ เหลือเพียงปะการังก้อนจำนวนไม่มากนัก
หากเราอยากกู้มาหยา ปัญหาสำคัญสุดคือเรือ ทำอย่างไรให้เราลดจำนวนเรือลงให้ได้ ตั้งแต่ทำ #พีพีโมเดล ปัญหานี้ถูกนำมาพูดคุยกันตลอด จนท้ายสุดชาวบ้านบนเกาะพีพีกว่า 300 คนลงรายชื่อเสนอให้อุทยานปิดอ่าวมาหยาในช่วงมรสุม หมายถึง 4 เดือน มิถุนายน-กันยายน อันเป็นเวลาที่คลื่นค่อนข้างแรงในบางวัน การเดินทางบางครั้งก็ลำบากและอาจเกิดอันตราย
แต่เมื่ออ่าวมาหยายังเปิดอยู่ นักท่องเที่ยวก็ยังอยากมา บางทีคนขับเรือก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ยกเว้นในกรณีที่คลื่นแรงจริงจัง แนวคิดจากชาวบ้านกลายเป็นเรื่องที่พูดกันในที่ประชุมอุทยานกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ จนกลายเป็นข้อตกลงในที่ประชุมว่าน่าจะปิดอ่าว 4 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอกรมอุทยาน เพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อเสนอดังกล่าวมี 2 แนวทาง สิ่งที่ตรงกันคือไม่ให้เรือเข้ามาในอ่าวมาหยาในช่วงนั้น แต่สิ่งที่กำลังพิจารณาคือจะให้เข้าทางด้านหลัง (อ่าวโละซามะ) หรือไม่ให้เข้าเลย สำหรับผมแล้ว คิดว่าแนวทางไม่ให้เข้าเลยน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะทางเข้าที่อ่าวโละซามะยังไม่ได้ปรับปรุง อาจเป็นอันตรายเพราะต้องปีนป่ายขึ้นไปตามผืนอวน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับการตกลงว่าจะทำอย่างไรกัน
ผมขอย้อนกลับมาที่อ่าวมาหยา เราทำการสำรวจพื้นที่ พบว่าปะการังเหลืออยู่บ้างแต่น้อยมาก ทั้งหมดเป็นปะการังก้อน ส่วนที่เหลือรอดคือด้านข้าง หากมีการปิดอ่าวมาหยา สิ่งที่ควรทำแน่นอนคือการปลูกปะการังในบริเวณนี้ โดยเฉพาะปะการังที่แทบไม่เหลือในอ่าวมาหยาแล้ว เช่น ปะการังเขากวาง
ผมไม่ได้คิดว่าการปลูกปะการังเป็นการแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ในบางพื้นที่อาจมีความจำเป็น ในที่นี้ผมคิดว่าอ่าวมาหยามีความจำเป็น ในพื้นที่รอบๆ เกาะพีพี มีหลายบริเวณที่เราพอหาพ่อแม่พันธุ์ปะการังมาปลูกได้ ผมสำรวจพื้นที่เหล่านั้นไว้แล้ว เชื่อว่ามีกิ่งปะการังมากพอในการปลูกในรุ่นแรก
การปลูกปะการังเพื่อ #ฟื้นมาหยา ในช่วงแรกถือเป็นการทดลอง ซึ่งแน่นอนว่าอาจเป็นหรืออาจตาย แต่ผมเห็นที่เกาะยูงแล้ว ผมเชื่อว่าปะการังพีพีมีความอึดถึกเป็นอย่างมาก ในระหว่างนั้น เราต้องมาดูสิว่าอ่าวมาหยารับคนได้เท่าไหร่ ทีมงานของผมลงไปช่วยกันทำแบบสอบถามอยู่หลายวัน เพื่อหาคำตอบให้ได้
คำตอบส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกด้านความหนาแน่น ตัวเลขอยู่ที่ 170 คนต่อช่วงเวลา แน่นอนว่าตัวเลขนี้คงต้องวิเคราะห์ต่อไป แต่ถ้าถามว่าเกินไหม คำตอบคือจากวันที่ 1-18 มีนาคม มีนักท่องเที่ยวไปอ่าวมาหยาเฉลี่ย 3,750 คนต่อวัน
ผมเน้นย้ำว่าตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อสิมิลันและเกาะรอกปิด นักท่องเที่ยวเฉลี่ย 7,000 คนต่อวันจะไม่มีที่ไป บางส่วนจะแห่มาพีพี เพราะฉะนั้น ตัวเลขอ่าวมาหยาจะเพิ่มเกิน 5,000 คนต่อวัน เหมือนดังเช่นปีที่แล้วหากเราลองดูตัวเลขที่ได้จากค่าความหนาแน่น วันหนึ่งควรมีนักท่องเที่ยวเข้าอ่าวมาหยาไม่เกิน 2,000 คน ตัวเลขนักท่องเที่ยวตอนนี้เกินไปเกือบ 2 เท่า และอาจเกินไป 3 เท่าเมื่อสิมิลันปิด
หากเราปิดอ่าวมาหยา เราคงต้องมาช่วยกันหาทางว่า เมื่อเปิดอ่าวใหม่ เราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวไม่เกิน 2,000 คนต่อวัน สำคัญกว่านั้น เราจะทำอย่างไรให้เรือเข้ามาในอ่าวมาหยาลดลง หรือไม่เข้ามาในอ่าวมาหยาเลย หากเราคุมตัวเลข 2,000 คนต่อวันได้ หมายถึงเราลดเรือจาก 200 ลำเหลือ 100 ลำ แต่ทำอย่างไรถึงจะคุมได้ จะจัดคิวได้ ?
ยังมีอีกทางหนึ่ง คือปรับให้เรือ 100 ลำต่อวัน ย้ายไปเข้าอ่าวโละซามะให้หมด หมายถึงจะไม่มีเรือสักลำเข้าไปในอ่าวมาหยา หากมองในแง่ช่วยฟื้นปะการัง นั่นคือวิธีดีที่สุด ไม่มีเรือเข้าไปเลย ปะการังที่ปลูกไว้น่าจะรอดเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือทำอย่างไรให้เราสามารถรับเรือให้เข้าทางโละซามะได้ วันละ 100 ลำ กรมอุทยานกำลังเริ่มวางแผนในเรื่องนี้ อาจใช้วิธีสร้างท่าเรือลอยน้ำ แต่จะอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร ? นั่นเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป
ผมขอสรุปว่า หากเราปิดอ่าวมาหยาได้ 4 เดือน ปลูกปะการังฟื้นมาหยา เปิดใหม่โดยรับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 2,000 คน/วัน ทำทางให้เรือ 100 ลำเข้าทางโละซามะเพียงอย่างเดียว ไม่ให้เข้าอ่าวมาหยาอีกเลย และปิดมาหยาปีละ 4 เดือน ทุกๆ ปี นั่นน่าจะเป็นวิธีที่ดีสุดในการฟื้นฟูมาหยา แต่ทั้งหมดนี้ ต้องเข้าใจว่ามาหยาเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ใครๆ ก็อยากไป การทำทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย อันที่จริงมันเป็นเรื่องท้าทายระดับสุดยอด
หากเราทำที่มาหยาได้ มันจะต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ อีกมาก และเป้าหมายในการคุมนักท่องเที่ยวไม่ให้ล้นอุทยานทางทะเลตามยุทธศาสตร์ชาติ จะเริ่มเข้าใกล้สู่ความเป็นจริง ปิดเกาะยูง ปิดตาชัย นั่นเป็นเพียงแค่เพลงโหมโรง
ปิดมาหยา นั่นคือยกที่หนึ่งของการทวงคืนทะเลไทย สำเร็จหรือไม่ ? ไม่ทราบ แต่ผมเป็นคนกรุงเทพที่ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ในทะเล ทะเลสอนผมว่า หากพายุโหมกระหน่ำคลื่นใหญ่พัดเข้ามา เราจะมามัวรีรอ เรือขวางคลื่นคว่ำทั้งลำ มีแต่หันหัวหาคลื่นแล้วโต้มันเข้าไป ขอเพียงเพื่อนธรณ์ยังอยู่บนเรือ เราจะลุยคลื่นไปด้วยกันครับ (ห้ามโดดหนีกลางทางนะจ๊ะ)
หมายเหตุ – ภาพประกอบโดย Shin Sirachai Arunrugstichai
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา