ประเทศญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่ง ที่เกิดภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นประเทศที่มีการเตรียมตัว และวิธีที่ชาญฉลาด ตื่นตัว แต่ไม่แตกตื่นกับการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่เสมอ รวมทั้งทางการ รัฐบาล และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังมีขั้นตอน มาตรการในการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างดีเยี่ยม
สำหรับสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี นอกจากนี้ มีการกล่าวด้วยว่า “ฮากิบิส” อาจเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งแม้ว่าขณะนี้พายุในแถบรอบๆโตเกียวได้เงียบสงบลงแล้ว แต่ทางการญี่ปุ่นยังคงประกาศแนะนำว่าห้ามออกจากบ้านจนกว่าพายุจะพ้นออกไป
เมื่อพูดถึงหนึ่งในโครงการที่ทั่วโลกรู้จักและพูดถึงคือ ‘อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ’ (Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel) ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้มหานครโตเกียว ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น ทุ่มงบประมาณมหาศาลกว่า 3 แสนล้านเยน หรือ เกือบ 1 แสนล้านบาท และใช้เวลายาวนานกว่า 8 ปี ในการดำเนินโครงการ
โดย ‘อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ’ เริ่มก่อสร้างขึ้นปี 1992 และแล้วเสร็จในปี 2000 ทั้งนี้แม้ว่าโครงการนี้จะใช้งบประมาณมากมายมหาศาล แต่ก็นับได้ว่า เป็นการดำเนินการที่คุ้มค่า เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างดีเยี่ยมโครงการหนึ่ง
สาเหตุที่มีการสร้างอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ขึ้นมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าว มักได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมหลายครั้ง เรียกได้ว่าเกิดน้ำท่วมขึ้นเกือบจะทุกปี เพราะลักษณะของดินในพื้นที่ที่มีรูปร่างเหมือนชาม ทำให้ง่ายต่อการกักเก็บน้ำเอาไว้ ความลาดชันของแม่น้ำก็มีน้อย ทำให้น้ำไหลลงทะเลได้ยาก
ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำจะลดลงช้า นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่นี้ มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่ทั่วไปเป็นเขตเมือง จึงทำให้น้ำฝนซึมลงพื้นได้ยากขึ้น แทนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโดยตรง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ ที่ด้านล่าง ดูแล้วเหมือนภายในมหาวิหาร หรือ เหมืองมอเรียจากหนังเรื่อง Lord of the Ring มีความยาว 6.3 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้ดินมากกว่าความลึกของรถไฟใต้ดินเสียอีก ซึ่งการก่อสร้าง เป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังใช้ประโยชน์จากดินที่ขุดขึ้นมาเพื่อสร้างอุโมงค์ นำไปรีไซเคิลเพื่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำเอโดกาวะอีกด้วย
ทั้งนี้ ‘อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ’ มีกลไลในการระบายน้ำคือ ใช้วิธีเชื่อมต่อเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเช่นแม่น้ำนาคางาวะแม่น้ำคุระมัตสึแม่น้ำโอโตชิที่จะไหลลงมาในไซโล
โดยทางระบายแต่ละแท่ง มีความสูงประมาณ 70เมตรและกว้าง 30 เมตร ซึ่งน้ำจะถูกปั้มผ่านอุโมงค์น้ำใต้ดินกว้าง 10 เมตร วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 16 ยาวไปยังแท็งค์กักเก็บน้ำในเมืองคัสสึคาเบะ ที่มีขนาดกว้าง 78 เมตร ยาว 177 เมตร สูง 18 เมตร หลังจากนั้นน้ำจะถูกปั้มลงแม่น้ำเอโดะ เพื่อปล่อยลงสู่อ่าวโตเกียวต่อไป
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการผนวกเอาขั้นตอนการทำงานจากอุโมงค์เข้ากับเทคโนโลยี โดยมีการสร้างห้องควบคุม ที่มีหน้าจอควบคุมระบบภายในอุโมงค์ต่าง ๆ กว่า 20 เครื่อง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสอดส่อง ดูแล ควบคุมสถานการณ์ระดับน้ำได้อย่างทั่วถึง
สิ่งที่น่าสนใจของอุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ คือประชาชนทั่วไปก็สามารถยังเข้าไปชม และหาความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์แห่งนี้ได้ โดยจะมีการอธิบายถึงขั้นตอน ของการระบายน้ำจากอุโมงค์ยักษ์ แบบเข้าใจได้ง่าย ที่คนทั่วไป สามารถเข้าใจได้ ทำให้ที่นี่กลายเป็นผลงานด้านวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยม และมีวิศวกรจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาดูงานที่อุโมงค์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอุโมงค์แห่งนี้ทำให้ บ้านที่ถูกน้ำท่วมในเขตเมืองรอบลดลงอย่างมาก และช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเป็นเวลาหลายปี
Mono Mobile
แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์
Mono Technology
อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007
TAGS
บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา