อ.ธรณ์ ไขข้อสงสัย จะบางส่วนไทยจมทะเล

จากกรณีที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ได้รายงานผลวิจัยว่าในปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากวิกฤตสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาจกระทบกับประชากรทั่วโลกที่จะสูญเสียที่อยู่อาศัย เนื่องจากเมืองทั้งเมืองอาจจมอยู่ใต้บาดาล โดยพื้นที่ติดกับทะเลและบางจังหวัดของไทยอาจมีบางส่วนจมน้ำ จนสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ทราบข่าวนั้น

ล่าสุดทาง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งเเวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายถึงผลวิจัยดังกล่าวเพื่อไขความกระจ่างให้ประชาชนได้รับทราบว่า ควรจะย้ายหรือไม่ย้ายหนีที่พักอาศัยหนีจากกรณีดังกล่าวหรือไม่ พร้อมข้อเสนอแนะในการป้องกันและรับมือ โดยระบุว่า

เรื่องโลกร้อนทำให้กรุงเทพ/ภาคกลางจมน้ำ เป็นข่าวที่หลายคนสนใจ ผมจึงอยากอธิบายให้เพื่อนธรณ์เข้าใจแบบง่ายๆต้นทางของเรื่องนี้มาจากบทความวิจัยว่าด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบพื้นที่ชายฝั่ง

เดิมทีเราใช้ระบบ SRTM โดยวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม LANDSAT ของนาซ่า แต่มีปัญหาเรื่องระดับเส้นความสูงพื้นดิน เพราะตามชายฝั่งมีทั้งต้นไม้และอาคาร ระบบใหม่ที่ผู้วิจัยใช้คือ DEM ซึ่งใช้ข้อมูลที่มีรายละเอียดสูงกว่า ช่วยแก้ไขความผิดพลาดจากระบบเดิม ทำให้เราพบว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ว่าง่ายๆ คือระบบเดิมคิดว่าแผ่นดินชายฝั่งสูงประมาณนั้น ระบบใหม่บอกว่าจริงๆ แล้วต่ำกว่านั้นนะจ๊ะ ในบางข่าวจะกล่าวถึงโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ ดูตัวเลขแล้วร้องจ๊ากแน่นอน แต่ถ้าอ่านจากงานวิจัย จะพบว่า มีโอกาส 5% ที่น้ำจะสูงขึ้น 2 เมตร

เรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไม่มีใครกล้าฟันธงแบบเป๊ะๆ เอาเป็นว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะสูงขึ้น 20-30 เซนติเมตรในปี 2050 และส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจสูง 50-70-100 เซนติเมตรในช่วงสิ้นศตวรรษ

แต่เมื่อเป็นงานวิจัยเรื่องโลกร้อน เขาก็ต้องนำตัวเลขแบบสุดมาใช้ (K17/RCP 8.5/2100)เมื่อทาบลงไปบนแผนที่ซึ่งมีระดับความสูงเตี้ยกว่าเดิม พื้นที่โดนน้ำท่วมจึงขยายขนาดขึ้นเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเขาทำผิดนะครับ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้เช่นนั้น

จมน้ำหมายถึงน้ำท่วม ไม่ได้หมายถึงจะจมอยู่ใต้น้ำตามที่เข้าใจ
เพียงแต่ด้วยการคาดการณ์ในปัจจุบัน โอกาสอาจน้อยหน่อย (แต่ถ้าในอนาคต โลกร้อนเร็วขึ้นเกินคาด โอกาสเป็นไปได้ก็เยอะขึ้น) อีกอย่างที่ต้องทำความเข้าใจคือ “จมน้ำ” ในที่นี้หมายถึงน้ำท่วม แต่ไม่ใช่ท่วมตลอดเวลาจนแผ่นดินกลายเป็นทะเลทั้งหมด

(ถึงแม้มีบางพื้นที่ชายฝั่งต่ำจริงจะกลายเป็นทะเลเหมือนเสาไฟฟ้า/หลักเขตกทม.ที่ตอนนี้อยู่ในทะเล) แต่หมายถึงโอกาสที่

พื้นที่จะเกิดน้ำทะเลเอ่อขึ้นแทบทุกวันเมื่อน้ำขึ้นสูง
น้ำท่วมมีบ่อยครั้งขึ้น
เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นระยะ
อ่านมาทั้งหมด ไหงอาจารย์ถึงบอกว่าโลกร้อนไม่น่ากลัว ? เปล่าเลยครับ ผมเพียงแค่อยากอธิบายเรื่องผลกระทบของโลกร้อนให้อยู่ตามพื้นฐานความเป็นจริง ซึ่งมันก็น่าตกใจเพียงพอแล้ว ไม่ต้องเติมผีฮัลโลวีน ก็ขนลุกเกรียวได้แล้วล่ะ

เพราะตัวเลขคาดการณ์ 2 เมตร ไม่เคยมีมาก่อน ตอนนี้มีโอกาส 5% ก็หมายถึงเริ่มโผล่มาแล้ว เพราะโลกร้อนละลายน้ำแข็งเร็วกว่าที่เราคิด เพราะชายฝั่งที่คาดการณ์ผิดคิดว่าสูงนะ ดันต่ำกว่าที่คิด พื้นที่ได้รับผลกระทบย่อมกว้างขึ้น และปัญหาน้ำท่วม จะส่งผลกับพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

โอกาสแรก คิดตามง่ายๆ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เวลาน้ำขึ้น มันก็ต้องเอ่อเข้ามาตามชายฝั่งมากขึ้น ชุมชมริมทะเลหรือตามปากแม่น้ำ อาจเจอน้ำเอ่อท่วมเข้ามาหลายวันต่อเดือน (ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ แต่จะมีมากขึ้น)
โอกาสสอง เมื่อฝนตกตามชายฝั่ง แต่น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำก็ระบายออกยากขึ้น ยิ่งยุคนี้ฝนโลกร้อนตกโครมคราม น้ำรอการระบายจะนานขึ้น คนกรุงเทพคงเข้าใจดี
โอกาสสาม หากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เช่น พายุโซนร้อนผ่านมา มวลน้ำจากภาคเหนือภาคอีสานไหลลงมาภาคกลางแต่ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำพวกนั้นก็ระบายออกไม่ได้ กลายเป็นมหาอุทกภัยเหมือนที่เราเคยเจอ
แล้วเราจะรับมืออย่างไร ? ย้ายเมืองหลวง ?
ย้ายไปไหนดีล่ะครับ พื้นที่ภาคกลางได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ถ้าย้ายไปไกลก็ไม่ใช่ศูนย์กลางอีกต่อไป แล้วจะเอาเงินไหนมาลงทุนทำโน่นนี่ ? ผมไม่คิดว่าเราจะย้ายได้ เราคงต้องอยู่ตรงนี้ต่อไป

จะบอกว่าขยาย กทม. ไปทางเหนือให้ไกลทะเล ก็คงต้องบอกว่าผลกระทบเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมระบายไม่ออก ยิ่งตอนเหนือกทม.ยิ่งรับน้ำ คงจำปี 54 ได้นะ การรับมือเป็นเรื่องยุ่งยาก มากๆ ให้คิดได้แต่ทำได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับความพยายามอย่างยิ่งยวดซึ่งอาจจะยากหน่อยเช่น

กำหนดเขตชายฝั่งริมทะเลภาคกลางเป็นบัฟเฟอร์โซน ปลูกป่าเลนไว้ลดแรงคลื่นเมื่พายุเข้า
ไม่ลงทุนทำอะไรมากริมฝั่งในพื้นที่เสี่ยงมากๆ เพราะทำไปเดี๋ยวน้ำก็เอ่อล้นเข้ามา
ยกระดับระบบระบายน้ำในกทม./เมืองให้ดีกว่านี้ ไม่พึ่งพาคูคลองตามธรรมชาติอย่างเดียว
ต้องใช้ระบบไฮเทคเหมือนกับที่แชร์ๆ กันในญี่ปุ่น เพื่อผลักน้ำออกไปให้ได้
อันที่จริง เขาก็ทำอยู่แล้วครับ ผมรู้ดีเพราะถนนเอกมัยหน้าบ้านโดนถล่มมาร่วมปี เพื่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ หวังว่าคงจะเสร็จในเร็ววันเนื่องจากยางรถแตกไป 2 เส้นแล้วจ้ะ และอื่นๆ อีกมากที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มีเยอะ และคงหาทางรับมือ/แก้ไขกันไปตามสถานการณ์ เพราะโลกร้อนแรงขึ้น น่ากลัวยิ่งขึ้น พร้อมจะดูดเงินจ๊วบๆ ไปจากพวกเรา มากขึ้นและมากขึ้น




SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา