เล็งเปิดหลักสูตรสอนปรุงอาหารจากกัญชา

จากกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่มีการโพสต์รีวิวการกินอาหารที่ทำจาก ใบกัญชา ซึ่งเป็นเมนูจาก อภัยภูเบศร เดย์ สปา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี หลังกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกให้ส่วนใบของกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น

ทางพญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า หลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา โดยจำหน่ายให้เฉพาะบุคลากรของโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา จนถูกพูดถึงและแชร์ต่อในโลกออนไลน์จำนวนมาก

โดยความเป็นมาของโครงการเกิดจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล เป็นการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทย การใช้ในผู้ป่วย และศึกษาวิจัยเพื่อเสนอให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย จนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5

จึงทำให้เราเกิดแนวคิดว่าต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็สื่อสารไปทางนโยบายและนักวิจัยว่ามีประเด็นอะไรที่เราต้องทำงานวิชาการเพิ่มเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยกลุ่มเป้าหมายของเราหลัก ๆ มี 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหาร

ดังนั้น โรงพยาบาลจึงได้ใช้คอนเซ็ปต์ "มาชิมกัญ" เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเมื่อคนสนใจเราก็จะให้ความรู้เพื่อการนำไปใช้อย่างถูกต้อง แม้คนไทยจะเคยใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารในปริมาณไม่มากนัก เช่น ประมาณ 3 ยอด ต่อแกง 1 หม้อ สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว หรือสำหรับการบริโภค 1 คน ไม่ควรเกิน 5-8 ใบต่อวัน แต่ในองค์ความรู้ปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัยก็พบว่า ในกัญชามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

เรียกง่าย ๆ ว่า สารเมา หากบริโภคติดต่อกันในขนาดสูง ๆ เป็นเวลานานก็อาจทำให้เสพติดได้ รวมทั้งสารนี้ยังต้องระวังในเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยในบางกลุ่มโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ

แม้จะมีข้อมูลว่าในใบกัญชามี THC ต่ำกว่าช่อดอกมาก แต่การนำไปบริโภคอย่างไม่เหมาะสมก็อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพและสังคมได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมและสะสมสารนี้ในร่างกาย ได้แก่ อายุของใบ (ใบแก่มีสารเมามากกว่าใบอ่อน) การปรุง (ระยะเวลาการปรุง การปรุงอาหารในระยะเวลานาน การปรุงด้วยไขมัน จะทำให้สามารถดึงสาร THC มาอยู่ในอาหารได้ดีขึ้น) น้ำหนักตัว และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้บริโภค (สารเมามีแนวโน้มสะสมในชั้นไขมันได้นานขึ้น)

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจจะนำกัญชาไปปรุง เราจะมีการอบรมให้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตร โดยจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาอย่างกว้างขวางทั่วโลก มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับให้อาหารไทยมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

ในปัจจุบันผู้ประกอบการก็สามารถซื้อใบจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าคือ กัญชง เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งกัญชงก็มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา การใช้ในรูปแบบอาหารน่าจะปลอดภัยกว่า ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกัญชง จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 มกราคม 2564 ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมศึกษา เตรียมตัวพบกันได้ในงาน มหกรรมกัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ที่ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 5-7 มีนาคม 2564 หรือต้องการมาทดลองรับประทานอาหารตำรับกัญชา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ 037-217127 อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ 037-211289 ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร




SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา