ความเรียบง่ายและพอเพียงใน เครื่องเสวย ของในหลวง ร.9

1

ความเรียบง่ายและพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 นั้น นอกจากเรื่องการดำเนินชีวิตแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องของเครื่องเสวยอีกด้วย เราจึงได้นำส่วนหนึ่งของบทความที่ คุณดวงฤทธิ์ แคลัวปลอดทุกข์ Food Stylist ได้เขียนไว้ โดยนำข้อมูลมาจากบทสัมภาษณ์คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล (ในขณะนั้น) ต้นเครื่องพระตำหนักจิตรลดาฯ จากหนังสือ ‘เครื่องต้น ก้นครัว’ ครัวจิตรลดา จัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ไม่ระบุปีที่พิมพ์ มาเรียบเรียงให้ทุกท่านได้อ่านกัน

2

ความเรียบง่ายและพอเพียงใน เครื่องเสวย ของในหลวง ร.9

3

หนังสือ ‘เครื่องต้น ก้นครัว’

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ ตัวอย่างนะคะ

อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ กับข้าวต้มนี่ก็ธรรมดามาก อย่างที่เรารับประทานกันนี่แหละค่ะ เช่น หัวไชโป๊วผัดไข่ ไข่เค็ม ยำปลาสลิด ผัดหนำเลี๊ยบ หรือไข่เจียว ทรงโปรดเสวยง่ายๆ เหมือนสามัญชน… ยำกุ้งแห้งจะต้องหั่นขิงเป็นฝอยใส่โรยลงไปด้วย หั่นพริกขี้หนูเป็นฝอย ถ้ามีเต้าหู้ยี้ก็จะมีพริกและมะนาวฝานเป็นชิ้นเคียงกันไปด้วย ตั้งเครื่องอะไรก็ทรงเสวยหมด บางมื้อมีถั่วลิสงคั่ว ปลาหมึกเค็มทอด ต้มจับฉ่าย เต้าหู้เค็ม และพวกพะโล้มีทั้งไก่ ทั้งหมูแล้วก็ไข่ด้วย…โดยทุกอย่างต้องรสกลมกล่อมพอดี ไม่จัดมากค่ะ”

จากบทสัมภาษณ์คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล(ในขณะนั้น) ต้นเครื่องพระตำหนักจิตรลดาฯ จากหนังสือ “”เครื่องต้น ก้นครัว” ครัวจิตรลดา จัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ไม่ระบุปีที่พิมพ์

4

รูปภาพ “ข้าวต้มกับ” จากร้านอาหารไทย The Never Ending Summer Food stylist ; Duang-rithi Claewplodtook Photographer ; Vipa Vadi

น้ำพริกทรงโปรด

5

รูปประกอบ “น้ำพริก ปลาทูทอด” จากนิตยสาร HARPER’S BAZAAR THAILAND และนิตยสาร HARPER’S BAZAAR SPAIN Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Sansithi Koraviyothin

หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เคยเล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตในวัง” ว่า ในสำรับเครื่องเสวยเจ้านายในสมัยก่อน จะต้องมีปลาทูทอดพร้อมน้ำพริกต่างๆตามฤดูกาลขึ้นตั้งเครื่องทุกครั้งไป จะเสวยหรือไม่ไม่รู้ แต่ต้องมีทุกครั้งที่ตั้งเครื่องไทย โดยคนตั้งสำรับจะถอดก้างออกให้หมด เรียงด้านสันหลังปลาตั้งขึ้น อัดลงในหีบเงินแท้ที่รองด้วยใบตอง

พอหมดฤดูปลาทูแล้ว ก็หมดกัน
วิธีเก็บปลาทูไว้กินตลอดปีของคนโบราณ คือ ทอดให้เหลืองกรอบ อัดใส่ไหซอง เทน้ำมันหมูร้อนๆลงท่วมตัวปลาถึงปากไห ปิดฝา ยาซีเมนต์กันอากาศเข้า พระวิมาดาเธอฯ โปรดฯให้ห้องเครื่องทำไปประทานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่เมืองเชียงใหม่ ไว้เสวยได้ตลอดปี เมื่อจะเสวยนำมาทอดใหม่ให้เหลืองกรอบ หอม อีกครั้ง

คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ได่เล่าไว้ถึงน้ำพริกที่เป็นเครื่องเสวยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือ “เครื่องต้น ก้นครัว” ครัวจิตรลดา ไว้ว่า

“ก็เป็นน้ำพริกมะขามบ้าง น้ำพริกมะขือพวงบ้าง น้ำพริกหนำเลี๊ยบ หรือบางทีก็น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิปลาทูทอดนั้น เฉพาะอย่างยิ่งปลาทูพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดมาก เสวยได้บ่อยๆ ก่อนจะตั้งก็ต้องแกะก้างออกให้หมด ส่วนเครื่องจิ้มก็เป็นผักสดชุบไข่ทอด ผักดอง ขิงดอง เราต้องดองเองค่ะ หรือถ้าอย่างเป็นน้ำพริกมะม่วงก็คู่กับปลาสลิด น้ำพริกมะขามสดก็ต้องเป็นกุ้งต้มที่เราต้มเองนะคะ ไม่ใช่ซื้อที่เขาต้มไว้แล้วที่ตลาด เรื่องของความสะอาดนั้นเราระวังสุดชีวิตค่ะ”

“พริกกะเกลือ”

6

คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เคยให้สัมภาษณ์เรื่องพริกกะเกลือที่ทรงโปรดเสวยไว้ในหนังสือ “เครื่องต้น ก้นครัว” ว่า

“…หรือแม้แต่กับข้าวพื้นๆ อย่างที่ชาวบ้านนิยมกันเป็นอาหารจานโปรดด้วยเหมือนกัน หรืออีกอย่างที่ชาวบ้านอาจไม่ค่อยนิยมทำกัน แต่เป็นเครื่องต้นบ่อย และเป็นของง่ายๆ

นั่นคือ พริกกะเกลือ… เป็นชื่อเฉพาะทั้งๆที่ไม่มีพริกเลยสักเม็ดเดียว

วิธีปรุง เอามะพร้าวมาคั่วให้เหลืองหอม ถั่วลิสงคั่วด้วย แล้วเอาใส่ครกตำกับเกลือจนละเอียด เนื้อมะพร้าวนั้นจะแตกมัน ต้องระวังรสให้พอดี อย่าให้เค็มมากนัก

ถ้าตั้งพริกกะเกลือล่ะก็ ข้าวสวยต้องร้อนๆ โปรดมากเชียวค่ะ

นอกจากทุกพระองค์จะเสวยง่ายๆ ธรรมดาๆ ตั้งอะไรก็เสวยอย่างนั้น ไม่เคยมีเสียงบ่น หรือติอะไรแล้ว ยังทรงประหยัดอีกด้วย…”

“หนำเลี๊ยบผัด”

7

รูปประกอบ “ข้าวต้มกับ” จากร้านอาหารไทย The Never Ending Summer จากนิตยสาร home & decor Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Vipa Vadi

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ

ตัวอย่างนะคะ อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ…”

เรื่องของ ‘หนำเลี๊ยบผัด’ เป็นของชอบของนักรับประทานข้าวต้มกับทั้งนั้น คุณหญิงประสานสุขจึงให้คำอธิบาย ถึงวิธีปรุงหนำเลี๊ยบผัดที่เป็นพระเครื่องต้น ดังนี้

“หนำเลี๊ยบผัด ดิฉันลอกเปลือกแข็งออกก่อน แล้วจึงเลาะเอาแต่เนื้อมาสับ ทุบกระเทียมให้มากหน่อยแล้วเอาลงผัด เจือน้ำตาลทรายเพื่อตัดรสเค็มของเนื้อหนำเลี๊ยบ โรยด้วยกากหมูที่เราหั่นเล็กๆ เตรียมเอาไว้แล้ว ดิฉันเรียนได้ว่าทรงโปรดมาก และโปรดทุกพระองค์เลยค่ะ…”

‘ข้าวต้มเครื่อง’

8

รูปประกอบ “ข้าวต้มเครื่องจัดแบบวิทยาลัยในวังหญิง” จากปฏิทินกรุงไทยการไฟฟ้า ปี 2559 ซึ่งได้รับรางวัล “สุริยศศิธร” ประเภทปฏิทินดีเด่นด้านอนุรักษ์อาหารไทย Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Sansithi Koraviyothin

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ

ตัวอย่างนะคะ อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ

…ยิ่งข้าวต้มเครื่องด้วยแล้ว ก็ธรรมดาเหมือนกันอีกแหละค่ะ ข้าวต้มกุ้ง หมู ไก่ และก็ ปลา สลับกันไป แต่ดิฉันจะปรุงแต่งให้ดูแปลกตาไป บ้าง ก็อย่างชิ้นของกุ้ง หมู ไก่ หรือปลา โดยเราจะประดิดประดอยเป็นรูปทรงต่างๆ … แล้วก็ทุกพระองค์จะทรงเสวยหมดค่ะ…

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงโปรดเสวยเพียงชามเดียว ไม่ตักเติมอีก เพราะฉะนั้นเมื่อตักทีแรก จะต้องกะให้พอดีกับภาชนะ หมดแล้วไม่ทรงเติม…พระองค์ท่านเสวยอย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เคยเห็นตักซ้ำอีกค่ะ”

9

คุณหญิง ประสานสุข ตันติเวชกุล

ขอขอบคุณบทความ และภาพอาหารประกอบจาก คุณดวง Duang-rithi Claewplodtook , Duang-rithi Foodstylist และภาพประกอบจาก ร้าน The Never Ending Summer

 



SOCIAL NETWORK

Mono Mobile

แหล่งรวบรวมคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบวิดีโอคลิป สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้งานหลากหลายอุปกรณ์

Mono Technology

อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ เลขที่ 200 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เบอร์โทร 021007007

TAGS

บันเทิง, ข่าวสาร, ก็อซซิป, คลิปตลก, คลิปเด็ด, ดูดวง, เพลงฮิต, เกม, ความรัก, กีฬา