ความเรียบง่ายและพอเพียงใน เครื่องเสวย ของในหลวง ร.9
ความเรียบง่ายและพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 นั้น นอกจากเรื่องการดำเนินชีวิตแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องของเครื่องเสวยอีกด้วย เราจึงได้นำส่วนหนึ่งของบทความที่ คุณดวงฤทธิ์ แคลัวปลอดทุกข์ Food Stylist ได้เขียนไว้ โดยนำข้อมูลมาจากบทสัมภาษณ์คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล (ในขณะนั้น) ต้นเครื่องพระตำหนักจิตรลดาฯ จากหนังสือ ‘เครื่องต้น ก้นครัว’ ครัวจิตรลดา จัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ไม่ระบุปีที่พิมพ์ มาเรียบเรียงให้ทุกท่านได้อ่านกัน
หนังสือ ‘เครื่องต้น ก้นครัว’
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ ตัวอย่างนะคะ
อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ กับข้าวต้มนี่ก็ธรรมดามาก อย่างที่เรารับประทานกันนี่แหละค่ะ เช่น หัวไชโป๊วผัดไข่ ไข่เค็ม ยำปลาสลิด ผัดหนำเลี๊ยบ หรือไข่เจียว ทรงโปรดเสวยง่ายๆ เหมือนสามัญชน… ยำกุ้งแห้งจะต้องหั่นขิงเป็นฝอยใส่โรยลงไปด้วย หั่นพริกขี้หนูเป็นฝอย ถ้ามีเต้าหู้ยี้ก็จะมีพริกและมะนาวฝานเป็นชิ้นเคียงกันไปด้วย ตั้งเครื่องอะไรก็ทรงเสวยหมด บางมื้อมีถั่วลิสงคั่ว ปลาหมึกเค็มทอด ต้มจับฉ่าย เต้าหู้เค็ม และพวกพะโล้มีทั้งไก่ ทั้งหมูแล้วก็ไข่ด้วย…โดยทุกอย่างต้องรสกลมกล่อมพอดี ไม่จัดมากค่ะ”
จากบทสัมภาษณ์คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล(ในขณะนั้น) ต้นเครื่องพระตำหนักจิตรลดาฯ จากหนังสือ “”เครื่องต้น ก้นครัว” ครัวจิตรลดา จัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ไม่ระบุปีที่พิมพ์
รูปภาพ “ข้าวต้มกับ” จากร้านอาหารไทย The Never Ending Summer Food stylist ; Duang-rithi Claewplodtook Photographer ; Vipa Vadi
น้ำพริกทรงโปรด
รูปประกอบ “น้ำพริก ปลาทูทอด” จากนิตยสาร HARPER’S BAZAAR THAILAND และนิตยสาร HARPER’S BAZAAR SPAIN Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Sansithi Koraviyothin
หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เคยเล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตในวัง” ว่า ในสำรับเครื่องเสวยเจ้านายในสมัยก่อน จะต้องมีปลาทูทอดพร้อมน้ำพริกต่างๆตามฤดูกาลขึ้นตั้งเครื่องทุกครั้งไป จะเสวยหรือไม่ไม่รู้ แต่ต้องมีทุกครั้งที่ตั้งเครื่องไทย โดยคนตั้งสำรับจะถอดก้างออกให้หมด เรียงด้านสันหลังปลาตั้งขึ้น อัดลงในหีบเงินแท้ที่รองด้วยใบตอง
พอหมดฤดูปลาทูแล้ว ก็หมดกัน
วิธีเก็บปลาทูไว้กินตลอดปีของคนโบราณ คือ ทอดให้เหลืองกรอบ อัดใส่ไหซอง เทน้ำมันหมูร้อนๆลงท่วมตัวปลาถึงปากไห ปิดฝา ยาซีเมนต์กันอากาศเข้า พระวิมาดาเธอฯ โปรดฯให้ห้องเครื่องทำไปประทานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่เมืองเชียงใหม่ ไว้เสวยได้ตลอดปี เมื่อจะเสวยนำมาทอดใหม่ให้เหลืองกรอบ หอม อีกครั้ง
คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ได่เล่าไว้ถึงน้ำพริกที่เป็นเครื่องเสวยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือ “เครื่องต้น ก้นครัว” ครัวจิตรลดา ไว้ว่า
“ก็เป็นน้ำพริกมะขามบ้าง น้ำพริกมะขือพวงบ้าง น้ำพริกหนำเลี๊ยบ หรือบางทีก็น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิปลาทูทอดนั้น เฉพาะอย่างยิ่งปลาทูพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดมาก เสวยได้บ่อยๆ ก่อนจะตั้งก็ต้องแกะก้างออกให้หมด ส่วนเครื่องจิ้มก็เป็นผักสดชุบไข่ทอด ผักดอง ขิงดอง เราต้องดองเองค่ะ หรือถ้าอย่างเป็นน้ำพริกมะม่วงก็คู่กับปลาสลิด น้ำพริกมะขามสดก็ต้องเป็นกุ้งต้มที่เราต้มเองนะคะ ไม่ใช่ซื้อที่เขาต้มไว้แล้วที่ตลาด เรื่องของความสะอาดนั้นเราระวังสุดชีวิตค่ะ”
“พริกกะเกลือ”
คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เคยให้สัมภาษณ์เรื่องพริกกะเกลือที่ทรงโปรดเสวยไว้ในหนังสือ “เครื่องต้น ก้นครัว” ว่า
“…หรือแม้แต่กับข้าวพื้นๆ อย่างที่ชาวบ้านนิยมกันเป็นอาหารจานโปรดด้วยเหมือนกัน หรืออีกอย่างที่ชาวบ้านอาจไม่ค่อยนิยมทำกัน แต่เป็นเครื่องต้นบ่อย และเป็นของง่ายๆ
นั่นคือ พริกกะเกลือ… เป็นชื่อเฉพาะทั้งๆที่ไม่มีพริกเลยสักเม็ดเดียว
วิธีปรุง เอามะพร้าวมาคั่วให้เหลืองหอม ถั่วลิสงคั่วด้วย แล้วเอาใส่ครกตำกับเกลือจนละเอียด เนื้อมะพร้าวนั้นจะแตกมัน ต้องระวังรสให้พอดี อย่าให้เค็มมากนัก
ถ้าตั้งพริกกะเกลือล่ะก็ ข้าวสวยต้องร้อนๆ โปรดมากเชียวค่ะ…
นอกจากทุกพระองค์จะเสวยง่ายๆ ธรรมดาๆ ตั้งอะไรก็เสวยอย่างนั้น ไม่เคยมีเสียงบ่น หรือติอะไรแล้ว ยังทรงประหยัดอีกด้วย…”
“หนำเลี๊ยบผัด”
รูปประกอบ “ข้าวต้มกับ” จากร้านอาหารไทย The Never Ending Summer จากนิตยสาร home & decor Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Vipa Vadi
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ
ตัวอย่างนะคะ อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ…”
เรื่องของ ‘หนำเลี๊ยบผัด’ เป็นของชอบของนักรับประทานข้าวต้มกับทั้งนั้น คุณหญิงประสานสุขจึงให้คำอธิบาย ถึงวิธีปรุงหนำเลี๊ยบผัดที่เป็นพระเครื่องต้น ดังนี้
“หนำเลี๊ยบผัด ดิฉันลอกเปลือกแข็งออกก่อน แล้วจึงเลาะเอาแต่เนื้อมาสับ ทุบกระเทียมให้มากหน่อยแล้วเอาลงผัด เจือน้ำตาลทรายเพื่อตัดรสเค็มของเนื้อหนำเลี๊ยบ โรยด้วยกากหมูที่เราหั่นเล็กๆ เตรียมเอาไว้แล้ว ดิฉันเรียนได้ว่าทรงโปรดมาก และโปรดทุกพระองค์เลยค่ะ…”
‘ข้าวต้มเครื่อง’
รูปประกอบ “ข้าวต้มเครื่องจัดแบบวิทยาลัยในวังหญิง” จากปฏิทินกรุงไทยการไฟฟ้า ปี 2559 ซึ่งได้รับรางวัล “สุริยศศิธร” ประเภทปฏิทินดีเด่นด้านอนุรักษ์อาหารไทย Food Stylist; Duang-rithi Claewplodtook ช่างภาพ; Sansithi Koraviyothin
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ
ตัวอย่างนะคะ อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ
…ยิ่งข้าวต้มเครื่องด้วยแล้ว ก็ธรรมดาเหมือนกันอีกแหละค่ะ ข้าวต้มกุ้ง หมู ไก่ และก็ ปลา สลับกันไป แต่ดิฉันจะปรุงแต่งให้ดูแปลกตาไป บ้าง ก็อย่างชิ้นของกุ้ง หมู ไก่ หรือปลา โดยเราจะประดิดประดอยเป็นรูปทรงต่างๆ … แล้วก็ทุกพระองค์จะทรงเสวยหมดค่ะ…
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงโปรดเสวยเพียงชามเดียว ไม่ตักเติมอีก เพราะฉะนั้นเมื่อตักทีแรก จะต้องกะให้พอดีกับภาชนะ หมดแล้วไม่ทรงเติม…พระองค์ท่านเสวยอย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เคยเห็นตักซ้ำอีกค่ะ”
ขอขอบคุณบทความ และภาพอาหารประกอบจาก: คุณดวง Duang-rithi Claewplodtook , Duang-rithi Foodstylist และภาพประกอบจาก: ร้าน The Never Ending Summer
เรียบเรียงโดย: Travel MThai