เชื่อว่าเวลานี้ นานาสถานรอบเกาะรัตนโกสินทร์เป็นผืนดินที่อบอวลไปด้วยความคิดถึง นับจากหมู่มวลประชาที่หมุนเวียนกันไปเข้ากราบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนิทรรศการ เย็นศิระฯ แล้ว ยังมี ๙ สถาน ๙ ความทรงจำ ทำให้คิดถึงพ่อ
๑. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งคู่ราชวงศ์จักรี ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธี และ พระราชกุศลต่างๆ รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพ ซึ่งขณะนี้ได้ประดิษฐาน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๒. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดพระแก้ว เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยาม และเมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ในหลวง รัชกาลที่ ๙ จะทรงพระราชดำเนินมา ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
วัดพระแก้ว ติดอันดับ 3 จากสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยสถิติการเข้าชมถึง 8 ล้านคนต่อปี
๓.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จัดโครงการ “บันทึกภาพน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ให้ประชาชนได้ร่วมบันทึกภาพที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งเคยเดินทางมากราบ พ่อหลวง เพื่อเป็นความทรงจำและเป็นมิ่งขวัญของชีวิตสืบไป
(ตัวอย่างภาพที่ระลึก ประชาชนทั่วไปสามารถบันทึกภาพและรอรับภาพได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)
ประชาชนสามารถเดินทางมาถ่ายภาพได้ที่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชั้น 1 ในวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เริ่มตั้งแต่ 19 พฤษภาคม – 19 ตุลาคม 2560
๔. ถนนหน้าพระลาน
ถนนหน้าพระลาน บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เป็นย่านที่มีกลิ่นอายของบรรยากาศในช่วงกลางยุครัตนโกสินท์ อีกทั้งยังมีตึกแถวสไตล์ยุโรปเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนตึกแถวริมถนนหน้าพระลานเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2543 และเมื่อใดที่มีพระราชพิธี เรามักจะเห็นประชาชนเดินทางมาเพื่อรอรับเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวอยู่ภูมิพลอดุลยเดชฯ อยู่เสมอ ถนนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนการรวมใจคนไทยเพื่อแสดงความเคารพต่อพระองค์ท่าน
๕. ศาลหลักเมือง
ที่สถิตของ เสาหลักเมือง ถูกสร้างพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสาหลักเมืองได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ และถูกอัญเชิญไปประดิษฐานคู่กัน ต่อมาศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัย รัชกาลที่ ๙ เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
๖. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ในอดีต พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งหมดจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชม ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
ในขณะนี้เป็นสถานที่ซึ่งใช้บูรณะ พระมหาพิชัยราชรถ เพื่อใช้ใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
๗. ท่ามหาราช
(ขอบคุณภาพ : facebook Tha Maharaj)
ท่ามหาราช เป็นท่าเรือที่ปรับปรุงจากท่าเรือเล็กๆ รับส่งผู้โดยสารไปที่ วัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรี ให้กลายเป็นท่าเรือที่มีสีสันด้วยคอมมิวนิตี้มอลล์ และจุดชมวิวเจ้าพระยา เชื่อว่าทุกครั้งที่มองออกไป สายตาต้องพลันไปหยุดที่ศิริราช หนึ่งในสถานแห่งความทรงจำถึงพ่อ
๘. พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
เดิมเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า ต่อมา รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าให้สร้างเป็นโรงกษาปณ์สิทธิการขึ้น แต่ภายหลังได้มีการโยกย้ายออกไปและถูกปล่อยร้าง จนกระทั่งครบรอบ ๑๐๐ ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย กรมศิลปากรได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน ประเภทศิลปะสมัยใหม่ และเสนอขอปรับปรุงให้เป็น พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
(ตัวอย่างผลงานฝีพระหัตถ์ของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ )
ปัจจุบัน พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ เป็นที่แสดงผลงานศิลปะของศิลปินหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และ เฟื้อ หริพิทักษ์ รวมถึงผลงานศิลปะจากฝีพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่นี่ด้วย
๙.อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตในวิกฤติการเมือง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระเมตตาช่วยเหลือประชาชน ด้วยการสั่งให้มหาดเล็กเปิดพระราชวังสวนจิตรลดาให้เข้ามาหลบภัย และยังทรงเสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่บาดเจ็บจากการปะทะ ณ โรงพยาบาลศิริราช
๙ สถานเหล่านี้เป็นเพียงตัวแทนส่วนหนึ่งให้คิดถึงพ่อ เพราะแท้จริงแล้ว ทุกแห่งหนที่เราคนไทยยืนอยู่นั้น เป็นแผ่นดินซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ความเสียสละอันมหาศาลอย่างหาที่เปรียบมิได้
– ไม่มีวันไหนไม่คิดถึงพ่อ –