เที่ยวต่างประเทศ ขาเข้า-ออก
สิ่งของไหนบ้างต้องสำแดง??
หลังจากอิ่มเอมกับการ เที่ยวต่างประเทศ อย่างสุขกายสบายใจ ปิดจ๊อบการซื้อของฝาก และของชอบส่วนตัวเรียบร้อย แต่!! เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ของเหล่านั้นใช่จะว่าหอบหิ้วกลับมาเท่าไหร่ หรืออยากครอบครองกี่ชิ้นก็ได้ตามใจชอบนะคะ เพราะทันทีที่เราลงเครื่อง จะต้องผ่านการตรวจจากด่านศุลกากรก่อน ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาคาใจใครหลายคน ถกเถียงกันมายาวนาน ว่า เอ๊ะ?? สินค้าที่เราหิ้วมาเมื่อผ่านศุลกากร ต้องเสียภาษีไหม? ต้องเข้าช่องสำแดงรึเปล่า? งั้นวันนี้เรามาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อมๆ กัน เริ่มตั้งแต่ระเบียบการหิ้วสัมภาระและสิ่งของออกนอกประเทศเลยค่ะ
กรณีเดินทางออกนอกประเทศ
หากต้องการพกของใช้ส่วนตัวออกนอกประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท ตลอดจนแก็ตเจ็ตต่างๆ เช่น กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป โน๊ตบุค แล็ปท็อป อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ ตามระเบียบศุลกากรต้องแจ้งเจ้าหน้าที่และลงทะเบียนสิ่งของต้องสำแดงก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อสิทธิในการยกเว้นภาษีอากร
ด้วยการลงทะเบียนหมายเลข serial numbers หรือ ลักษณะอื่นๆ ของสิ่งของนั้น เช่น ลักษณะเด่น รอยตำหนิ รูปพรรณ ณ ที่ทำการศุลกากรขาออกนอกประเทศ หลังตรวจรับ boarding pass แล้ว
ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่พกของสิ่งนั้นติดตัวไปเป็นจำนวนมาก เช่น พกกล้องไป 4 ตัว เลนส์อีก 4 ชุด หรือโทรศัพท์อีก 5 เครื่อง จนเป็นที่น่าสังเกต อย่างนี้ก็ควรสำแดง แต่ถ้ามีจำนวนน้อยชิ้นก็ไม่จำเป็นต้องสำแดงก็ได้
ส่วนเรื่อง เงินสด (บาท) อนุญาตให้นำออกไปนอกประเทศได้ ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท ยกเว้นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย เช่น ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สามารถนำออกไปได้ไม่เกิน 500,000 บาท
***********************************************
กรณีเดินทางเข้าประเทศ
เมื่อคุณเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย สัมภาระที่คุณหิ้วมา จะต้องผ่านการตรวจด้วยเครื่อง X-ray ตามหลักมาตรฐานสากล ด่านศุลกากร โดยแบ่งช่องตรวจออกเป็น 2 ช่อง คือ ช่องเขียว กับ ช่องแดง
– ช่องที่ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือ ช่องสีเขียว สำหรับผู้โดยสารที่มั่นใจว่าไม่มีสิ่งของต้องเสียภาษีอากร ก็เดินตัวปลิวเข้าช่องนี้สบายๆ มีรายละเอียดดังนี้
- มีของใช้ส่วนตัว ต่อ 1 คน ที่มีมูลค่ารวมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 หมื่นบาท (ไม่ใช่ ของต้องห้าม ของต้องกำกัด เสบียงอาหาร หรือเพื่อการค้า)
- บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือ ยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิน 250 กรัม
- ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเนื่องจากย้ายภูมิลำเนาโดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มีราคารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตร ไม่เกิน 1 ลิตร
- นำเงินตราต่างประเทศเข้าได้ไม่เกิน 2 หมื่น US หรือ เทียบเท่า
** ของต้องกำกัด หมายถึง ของที่จำเป็นจะต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีใบอนุญาตินำเข้า หรือส่งออก
** ของต้องห้าม หมายถึง ของที่ห้ามไม่ให้นำเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ส่วนใครที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลเบื้องต้น ก็ต้องเดินเข้าช่องสีแดงอย่างเลี่ยงไม่ได้นะจ๊ะ
– ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือ ช่องแดง สำหรับใครที่ลงทะเบียนสิ่งของสำแดงไว้ก่อนออกเดินทาง หรือ ใครที่มีสิ่งของต้องชำระภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งของที่นำเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีหรือไม่ โดยมีคุณลักษณะดังนี้
- ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน และ/หรือมีมูลค่ารวมกันเกิน 2 หมื่นบาท
- กระเป๋า-นาฬิกาแบรนด์เนมราคาเกิน 20,000 บาท ต้องชำระภาษี
- ของฝาก ของที่ระลึก ไม่ถือว่าเป็นของใช้ส่วนตัว หากมีจำนวนมูลค่ารวมกับของใช้ส่วนตัวแล้วเกิน 2 หมื่นบาท ต้องเสียภาษี
- ของที่นำมาเพื่อทำการค้าแม้ว่าจะไม่ถึง 2 หมื่นบาท แต่หากมีเจตนาเพื่อเอาไปขายต่อ ก็ต้องสำแดงด้วย
- “ของต้องกำกัด” เช่น พระพุทธรูป ก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมศิลปากร, อาวุธปืน ก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมการปกครอง หรือ กระทรวงมหาดไทย, บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกรมสรรพสามิต ฯลฯ
- “ของต้องห้าม” เช่น สารเสพติด สื่อลามก ของลอกเลียนแบบา ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ปลอม สัตว์ป่าสงวน ฯลฯ
- เสบียงอาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่มีเยอะเกินพอสมควรสำหรับที่ตนเองใช้ เช่น เครื่องสำอางชนิดเดียวกันแต่มีหลายชิ้น จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
ซึ่งหากใครตีเนียน หลีกเลี่ยง แกล้งไม่รู้หนูไม่เห็น แล้วเจ้าหน้าสุ่มตรวจเจอภายหลังล่ะก็ งานนี้ต้องเสียทั้งภาษีและค่าปรับเลยนะจ๊ะ มีบทลงโทษระบุไว้ชัดเจน คือ
- ปรับ 4 เท่าของมูลค่าของ โดยบวกค่าภาษีและอากรแล้ว
- จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรต้องถูกริบเป็นของแผ่นดิน
คราวต่อไป หากเพื่อนๆ มีแพลน ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็อย่าลืมปฏิบัติตามกฏระเบียบการสำแดงสิ่งของระหว่างเดินทางเข้าออกประเทศ ด้วยนะคะ จะได้ไปเที่ยวอย่างสบายใจ ไม่กังวลว่าจะทำผิดกฏหมาย และปิดทริปอย่างประทับใจ เป็นความทรงจำดีๆ ไปอีกนาน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : suvarnabhumiairport, mushroomtravel, linethaitravel